[Font : 15 ]
| |
ในภาษาปฏิจจสมุปบาทกรรมให้ผล ในอัตตภาพที่กระทํากรรม

ในภาษาปฏิจจสมุปบาทกรรมให้ผล ในอัตตภาพที่กระทํากรรมPTC57

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เหตุทั้งหลาย 3 ประการเหล่านี้ มีอยู่ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย. 3 ประการเหล่าไหนเล่า ? 3 ประการคือ โลภะ เป็นเหตุ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย, โทสะ เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย, โมหะ เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยโลภะ เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นเหตุ มีโลภะเป็นสมุทัย อันใด : กรรมอันนั้น ย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลาย อันเป็นที่บังเกิดแก่อัตตภาพของบุคคลนั้น. กรรมนั้น ให้ผลในอัตตภาพใด เขาย่อม เสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตตภาพนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างในทิฏฐิธรรม หรือว่า เป็นไปอย่างในอุปปัชชะ หรือว่า เป็นไปอย่างในอปรปริยายะPTC58 ก็ตาม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยโทสะ เกิดจากโทสะ มีโทสะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นสมุทัย อันใด ; กรรมอันนั้น ย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลาย อันเป็นที่บังเกิดแก่อัตตภาพของบุคคลนั้น. กรรมนั้น ให้ผลในอัตตภาพใด เขาย่อม เสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตตภาพนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างในทิฏฐิธรรม หรือว่า เป็นไปอย่างในอุปปัชชะ หรือว่า เป็นไปอย่างในอปรปริยายะ ก็ตาม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยโมหะ เกิดจากโมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นสมุทัย อันใด ; กรรมอันนั้น ย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลาย อันเป็นที่บังเกิดแก่อัตตภาพของบุคคลนั้น. กรรมนั้น ให้ผลในอัตตภาพใด เขาย่อม เสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตตภาพนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างในทิฏฐิธรรม หรือว่า เป็นไปอย่างในอุปปัชชะ หรือว่า เป็นไปอย่างในอปรปริยายะ ก็ตาม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเมล็ดพืชทั้งหลาย ที่ไม่แตกหัก ที่ไม่เน่า ที่ไม่ถูกทําลายด้วยลมและแดด เลือกเอาแต่เม็ดดี เก็บงําไว้ดี อันบุคคลหว่านไปแล้ว ในพื้นที่ซึ่งมีปริกรรมอันกระทําดีแล้ว ในเนื้อนาดี. อนึ่ง สายฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมล็ดพืชทั้งหลายเหล่านั้น จะพึงถึงซึ่งความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ โดยแน่นอน, ฉันใด : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น คือ กรรมอันบุคคล กระทําแล้วด้วยโลภะ เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นเหตุ มีโลภะเป็นสมุทัย อันใด ; กรรมอันนั้น ย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลาย อันเป็นที่บังเกิดแก่อัตตภาพของบุคคลนั้น. กรรมนั้นให้ผลในอัตตภาพใด เขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตตภาพนั้นเอง ไม่ว่าจะ เป็นไปอย่างในทิฏฐิธรรม หรือว่า เป็นไปอย่างในอุปปัชชะ หรือว่า เป็นไปอย่างในอปรปริยายะ ก็ตาม. กรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยโทสะ เกิดจากโทสะ มีโทสะเป็นเหตุ มีโทสะเป็นสมุทัย อันใด ; กรรมอันนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลาย อันเป็นที่บังเกิดแก่อัตตภาพของบุคคลนั้น. กรรมนั้น ให้ผลในอัตตภาพใด เขาย่อม เสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตตภาพนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างในทิฏฐิธรรม หรือว่า เป็นไปอย่างในอุปปัชชะ หรือว่า เป็นไปอย่างในอปรปริยายะ ก็ตาม กรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยโมหะ เกิดจากโมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นสมุทัย อันใด ; กรรมอันนั้น ย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลาย อันเป็นที่บังเกิดแก่อัตตภาพของบุคคลนั้น. กรรมนั้น ให้ผลในอัตตภาพใด เขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตตภาพนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างในทิฏฐิธรรม หรือว่า เป็นไปอย่างในอุปปัชชะ หรือว่า เป็นไปอย่างในอปรปริยายะ ก็ตาม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เหตุทั้งหลาย 3 ประการเหล่านี้แล เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย.

.... ..... ..... ....

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เหตุทั้งหลาย 3 ประการ เหล่านี้ มีอยู่ เพื่อความเกิดขึ้น แห่งกรรมทั้งหลาย. 3 ประการ เหล่าไหนเล่า ? 3 ประการคือ อโลภะ เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย, อโทสะ เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย อโมหะ เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยอโลภะ เกิดจากอโลภะ มีอโลภะเป็นเหตุ มีอโลภะเป็นสมุทัย อันใด ; เพราะปราศจากโลภะเสียแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้เอง กรรมอันนั้น ย่อมเป็นกรรมอันบุคคลนั้นละขาดแล้ว มีราก อันถอนขึ้นแล้ว ถูกกระทําให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน ทําให้ถึงความไม่มี มีอัน ไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยอโทสะ เกิดจาก อโทสะ มีอโทสะเป็นเหตุ มีอโทสะเป็นสมุทัยอันใด ; เพราะปราศจากโทสะเสียแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้เอง กรรมอันนั้นย่อมเป็นกรรมอันบุคคลนั้นละขาดแล้ว มีรากอันถอน ขึ้นแล้ว ถูกกระทําให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน ทําให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้น ต่อไปเป็นธรรมดา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยอโมหะ เกิดจาก อโมหะ มีอโมหะเป็นเหตุ มีอโมหะเป็นสมุทัย อันใด ; เพราะปราศจากโมหะเสียแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้เอง กรรมอันนั้น ย่อมเป็นกรรมอันบุคคลนั้นละขาดแล้ว มีรากอันถอนขึ้นแล้ว ถูกกระทําให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน ทําให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเทียบเมล็ดพืชทั้งหลาย ที่ไม่แตกหัก ที่ไม่เน่า ที่ไม่ถูกทําลายด้วยลมและแดด เลือกเอาแต่เม็ดดี เก็บงําไว้ดี บุรุษพืงเผาเมล็ดพืชเหล่านั้นด้วยไฟ ครั้นเผาด้วยไฟแล้ว พึงกระทําให้เป็นผงขี้เถ้า ; ครั้นกระทําให้เป็นผงขี้เถ้าแล้ว พึงโปรยไปในกระแสลมอันพัดจัด หรือว่าพึงลอยไปในกระแสน้ำอันเชี่ยวในแม่น้ำ, เมล็ดพืชทั้งหลายเหล่านั้นเป็นพืชมีมูลอันขาดแล้ว ถูกกระทําให้เหมือนตาลมีขั้ว ยอดอันด้วน ทําให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา โดยแน่นอน, นี้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือกรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยอโลภะ เกิดจากอโลภะ มีอโลภะเป็นเหตุ มีอโลภะเป็นสมุทัย อันใด ; เพราะปราศจาก โลภะเสียแล้ว, ด้วยอาการอย่างนี้เอง กรรมอันนั้น ย่อมเป็นกรรมอันบุคคลนั้นละขาดแล้ว มีรากอันถอนขึ้นแล้ว ถูกกระทําให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน ทําให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา. กรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยอโทสะ เกิดจากอโทสะ มีอโทสะเป็นเหตุ มีอโทสะเป็นสมุทัย อันใด ; เพราะปราศจากโทสะเสียแล้ว, ด้วยอาการอย่างนี้เอง กรรมอันนั้นย่อมเป็นกรรมอันบุคคลนั้นละขาดแล้ว มีรากอันถอน ขึ้นแล้ว ถูกกระทําให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน ทําให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้น ต่อไปเป็นธรรมดา กรรมอันบุคคลกระทําแล้วด้วยอโมหะ เกิดจากอโมหะ มีอโมหะ เป็นเหตุ มีอโมหะเป็นสมุทัย อันใด ; เพราะปราศจากโมหะเสียแล้ว ด้วยอาการ อย่างนี้เอง กรรมอันนั้น ย่อมเป็นกรรมอันบุคคลนั้นละขาดแล้ว มีรากอันถอนขึ้นแล้ว ถูกกระทําให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน ทําให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เหตุทั้งหลาย 3 ประการเหล่านี้แล เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย.

กรรมใด อันผู้กระทําเห็นอยู่ว่า เกิดแต่โลภะ เกิดแต่โทสะ

เกิดแต่โมหะ ก็ตาม : กระทําแล้ว น้อยก็ตาม มากก็ตาม ;

กรรมนั้น อันบุคคลนั้นพึงเสวยผลในอัตตภาพนี้นั่นเทียว : วัตถุ (พื้นที่)PTC59 อื่น หามีไม่ ; เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้รู้ประจักษ์ ซึ่งโลภะ โทสะและโมหะ กระทําวิชชาให้เกิดขึ้นอยู่ : ย่อมละ ทุคติทั้งหลายทั้งปวงได้.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพืงสังเกตให้เห็นว่า คําว่า "ทิฏฐธรรม" คําว่า "อุปปัชชะ" และคําว่า "อปรปริยายะ" (บาลีว่า ทิฏเฐว ธุมเม อุปปชเช วา อปเร วา ปริยาเย) ; 3 คํานี้ เรารู้จักกันทั่วไปโดยคําว่า "ทิฏฐธรรมเวทนียะ", "อุปปัชชเวทนียะ" และ "อปราปรเวทนียะ" และถือเอาความหมายกันว่า อย่างแรกหมายถึง เวลาในชาตินี้ก่อนแต่ตาย, 2 อย่างหลัง หมายถึงเวลาในชาติต่อๆ ไป หลังจากตายแล้ว ส่วนในบาลีนี้ แสดงให้เห็นไปในทํานองว่า ทั้ง 3 ชนิดนี้ ล้วนแต่เป็นไปในชีวิตนี้ หรือ ในอัตตภาพนี้ ตามความหมายของคําว่า "ชาติ" ในภาษาปฏิจจสมุปบาท ; กล่าวคือเกิด อุปาทานหรือความทุกข์ครั้งหนึ่งก็ชาติหนึ่ง ซึ่งวันหนึ่งเพียงวันเดียว ก็มีได้หลายสิบชาติ ดังนั้นคําว่า "ทิฏฐธรรม" หมายถึงให้ผลทันควัน, คําว่า "อุปปัชชะ" หมายถึงให้ผลในระยะ ถัดมา และคําว่า "อปรปริยายะ" ก็หมายถึงเวลาที่ถัดมาอีก คือ หลังจากการเกิดชาติที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ตามนัยะแห่งปฏิจจสมุปบาทในเวลาถัดมานั่นเอง แม้อาจจะติดๆ กันไปในชั่วโมง นั้น หรือหลายวันต่อมา หรือหลายปีต่อมา ซึ่งเป็นระยะเวลาในอัตตภาพนี้นี่เอง; ไม่จําเป็น จะต้องหมายความถึงต่อเมื่อตายแล้วเหมือนดับที่เข้าใจกันก็ได้, เรื่องต่างๆ หลังจากตายแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึง, เพราะว่าในอัตตภาพนี้อัตตภาพเดียว ก็ยังมีชาติให้เราทํากรรม และ เสวยผลกรรมตั้งร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ ล้านชาติ อยู่แล้ว. ขอให้สังเกต ความหมายของคําว่าชาติ ให้ตรงตามความหมายแห่งภาษาปฏิจจสมุปบาท หรือภาษาปรมัตถ์ ดังกล่าวนี้ด้วย. ถึงแม้ในภาษาศีลธรรมที่ใช้ในการสอนศีลธรรม ที่กล่าวถึงการระลึกชาติ จํานวนนับไม่ไหว ก็ยังอาจเล็งถึงชาติในความหมายนี้ได้อยู่นั่นเอง ดังนั้น น่าจะเข้าใจ ความหมายของคําว่า "ชาติ" และความหมายของคําว่า "ทิฏฐธรรม" คําว่า "อุปปัชชเวทนียะ" และคําว่า "อปราปรเวทนียะ" ให้ถูกต้องตามพระพุทธประสงค์กันเสียที : สรุป แล้วมีความหมายว่า คําว่า "ทิฏฐธรรม" คือทันควัน, คําว่า "สัมปรายะ" (ซึ่งรวมทั้ง อุปปัชชะและอปราประ) คือในเวลาถัดมา ซึ่งจะนานเท่าไรก็ได้.

อนึ่ง พึงสังเกตให้เห็นว่า คำว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ นั้น มีความหมายต่างกันอยู่เป็น 2 ระดับ : ระดับทั่วไป เป็นของผู้ยังไม่สิ้นอาสวะ เป็นเพียงสักว่าในขณะที่ทำกรรมนั้น ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ปรากฎ แต่มีกุศลเจตสิกอย่างอื่นที่ตรงกันข้ามจาก โลภะ โทสะ โมหะ มาปรากฏแทน เช่นคนธรรมดาให้ทานด้วยอำนาจเมตตากรุณาเป็นต้น ส่วนอโลภะ อโทสะ อโมหะ อีกความหมายหนึ่ง เป็นสภาพจิตของผู้สิ้นอาสวะแล้ว กรรมที่กระทำถึงการนับว่าไม่เป็นกรรม ไม่จำเป็นที่จะต้องมากล่าวว่าเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมแต่อย่างใด ข้อความแห่งพระบาลีนี้ คำว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ น่าจะหมายถึง นัยะอย่างแรกมากกว่า, ผู้ศึกษาพึงใคร่ครวญดูให้ดีเถิด.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ