[Font : 15 ]
| |
วิธีการสืบต่อความไม่ประมาทของอริยสาวก |  

นันทิยะ ! อริยสาวก เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท เป็นอย่างไรเล่า ?

นันทิยะ ! ในกรณีนี้คือ อริยสาวก เป็นผู้ประกอบด้วย ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว (พุทธอเวจจัปปสาทะ) ดังนี้ว่า “แม้เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์” ดังนี้. อริยสาวกนั้น ไม่มีความพอใจหยุดอยู่ เพียงแค่ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว แต่ พยายามให้ยิ่งขึ้นไป คือเพื่อความวิเวกในกลางวัน เพื่อความหลีกเร้นในกลางคืน.

เมื่ออริยสาวกนั้น เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้, ปราโมทย์ (ความบันเทิงใจ) ย่อมเกิดขึ้น ; เมื่อปราโมทย์แล้ว ปีติ (ความอิ่มใจ) ย่อมเกิดขึ้น ; เมื่อมีใจปีติ กายก็สงบระงับ ; ผู้มีกายสงบระงับ ย่อมรู้สึกเป็นสุข ; จิตของผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น (เป็นสมาธิ) ; เมื่อจิตตั้งมั่น ธรรม (ที่ยังไม่เคยปรากฏ) ย่อมปรากฏ ; เพราะความปรากฏแห่งธรรม อริยสาวกนั้น ย่อมถึงซึ่งการนับได้ว่า เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยแท้.

(ในกรณีแห่งโสตาปัตติยังคะที่ 2 คือ ความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว ก็ดี ที่ 3 คือ ความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว ก็ดี ที่ 4 คือ ความมีศีลที่พระอริยเจ้าพอใจ (อริยกันตศีล) ก็ดี ก็ได้ตรัสไว้มีข้อความอย่างเดียวกันกับข้อความข้างบนที่กล่าวถึงความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า)

นันทิยะ ! อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่า เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท.

- มหาวาร. สํ. 19/501/1602.

(ขอให้สังเกตเห็นใจความสำคัญที่ว่า แม้จะเป็น เตรียมพระโสดาบัน (คือธัมมานุสารีและสัทธานุสารีก็ตาม) หรือเป็นพระโสดาบันแล้วก็ตาม ยังมีกิจคือความไม่ประมาทที่จะต้องกระทำสืบต่อยิ่งขึ้นไป ตามข้อความในพระสูตรนี้ ให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอยู่เสมอ. ข้อปฏิบัติเหล่านั้นมีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า กลางวันมีวิเวก คือสงัดจากความรบกวนภายนอก กลางคืนมีปฏิสัลลาณะ คือจิตไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ แต่มากำหนดอยู่ที่ธรรมอันควรกำหนดอยู่ตลอดเวลา จนเกิดผลตามลำดับ นับแต่ความปราโมทย์ ไปจนถึงความปรากฏแห่งธรรมที่ยังไม่เคยปรากฎ. อริยสาวกชั้นที่สูงขึ้นไปก็มีหลักปฏิบัติทำนองนี้ คือ กลางวันมีวิเวก กลางคืนมีปฏิสัลลาณะ เพื่อบรรลุธรรมชั้นที่สูงขึ้นไปกว่าที่บรรลุอยู่ จนกระทั่งถึงชั้นพระอรหันต์. แม้ชั้นพระอรหันต์ซึ่งเป็นชั้นท่ีถึงที่สุดแห่งความไม่ประมาทแล้ว ก็ยังมีวิเวกในกลางวัน มีปฏิสัลลาณะในกลางคืน เพื่อความอยู่เป็นผาสุกของบุคคลผู้ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์.

ขอให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการอยู่อย่างมีวิเวกและปฏิสัลลาณะ ว่าเป็นฐานรากในการสืบต่อความไม่ประมาทให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในตัวเอง โดยไม่ต้องลำบากมากมายนัก).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง