[Font : 15 ]
| |
ผู้ถอนรากแห่งความรักและความเกลียดได้แล้ว (เมื่อวิมุตติถอนรากความรัก-เกลียด ตามธรรมชาติแล้ว) (มีผล 5 นัย) |  

ภิกษุ ท.! ธรรมารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเกิดอยู่เป็น 4 ประการ. 4 ประการอย่างไรเล่า ? 4 ประการคือ ความรักเกิดจากความรัก ความเกลียดเกิดจากความรัก ความรักเกิดจากความเกลียด ความเกลียดเกิดจากความเกลียด.

ภิกษุ ท.! อย่างไรเล่า เรียกว่า ความรักเกิดจากความรัก ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจ ของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่น่าพอใจ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความพอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า "บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่น่าพอใจ" ดังนี้ ; บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมทำความรักให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุ ท.! อย่างนี้แล เรียกว่าความรักเกิดจากความรัก.

ภิกษุ ท.! อย่างไรเล่า เรียกว่า ความเกลียดเกิดจากความรัก ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจ ของบุคคลคนหนึ่ง. มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่พอใจ ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า "บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่พอใจ" ดังนี้; บุคคลนั้น ชื่อว่าย่อมทำความเกลียดให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุ ท.! อย่างนี้แล เรียกว่า ความเกลียดเกิดจากความรัก.

ภิกษุ ท.! อย่างไรเล่า เรียกว่า ความรักเกิดจากความเกลียด ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ของบุคคลคนหนึ่ง. มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่พอใจ ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความพอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า "บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่พอใจ" ดังนี้ ; บุคคลนั้น ชื่อว่าย่อมทำความรักให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุ ท.! อย่างนี้แล เรียกว่า ความรักเกิดจากความเกลียด.

ภิกษุ ท.! อย่างไรเล่า เรียกว่า ความเกลียดเกิดจากความเกลียด ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจ ของบุคคลคนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่น่าพอใจ ; บุคคลโน้นก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า "บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำต่อบุคคลที่เราไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่น่าพอใจ" ดังนี้; บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมทำความเกลียดให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุ ท.! อย่างนี้แล เรียกว่า ความเกลียดเกิดจากความเกลียด.

ภิกษุ ท.! เหล่านี้แล คือธรรมารมณ์ ย่อมเกิดอยู่เป็น 4 ประการ.

ภิกษุ ท.! สมัยใด ภิกษุ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ ; สมัยนั้น ความรักที่เกิดจากความรัก ก็ถูกละขาด มีรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนต้นตาลมีขั้วยอดอันขาดแล้ว ให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา, ความเกลียดที่เกิดจากความรัก ก็ถูกละขาด..; ความรักที่เกิดจากความเกลียด ก็ถูกละขาด...; ความเกลียดที่เกิดจากความเกลียด ก็ถูละขาด มีรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนต้นตาลมีขั้วยอดอันขาดแล้ว ให้ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา. ภิกษุ ท.! ภิกษุ นี้ เรากล่าวว่า ย่อมไม่ถือตัว ย่อมไม่ตอบโต้ ย่อมไม่อัคควัน ย่อมไม่ลุกโพลง ย่อมไม่ไหม้เกรียม.

- จตุกฺก. อํ. 21/280/200


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง