[Font : 15 ]
| |
การใช้ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม

ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม เป็นหนังสือธรรมที่มุ่งหมายให้ประโยชน์แก่ผู้สนใจทุกกลุ่มทุกระดับ เพื่อให้การศึกษาธรรมเป็นไปได้โดยง่าย ประหยัดเวลา และสำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ

ถ้าท่านเป็น:-

นักศึกษาหรือคนหนุ่มสาว: ผู้ต้องการทำความรู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อขจัดความสงสัยที่มีอยู่ในใจว่า เรื่องของพุทธศาสนาหรือเรื่องของธรรมะ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมหรือถ่วงความเจริญของชีวิตและสังคมกันแน่. ควรเริ่มต้นศึกษาที่คำแม่บท พุทธ, ธรรม, สังฆะ, ให้ละเอียด เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องเกี่ยวกับพระรัตนตรัย. จากนั้นลองศึกษาต่อไปที่คำแม่บท ชีวิต, พัฒนา, โลก, มนุษย์ เป็นต้น; อันเป็นคำที่พูดถึงหรือกล่าวถึงกันอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน แล้วจะประจักษ์ชัดในคำตอบด้วยใจเอง.

ผู้เริ่มต้นศึกษาธรรม: ควรเริ่มต้นศึกษาที่คำแม่บท ชีวิต; เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” จนประจักษ์ใจเองว่า ชีวิตคืออะไร? ชีวิตนี้ต้องการอะไร? และการมีชีวิตอยู่นี้เพื่ออะไร? เมื่อเข้าใจจุดมุ่งหมายของชีวิตแล้ว ย่อมสามารถดำเนินชีวิตเข้าสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายตามที่กำหนดไว้ได้สมตามเจตนารมณ์.

ผู้กำลังปฏิบัติธรรม: สามารถเลือกอ่านคำแม่บทที่ส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติให้ไปสู่ทางลัดตัดตรงยิ่งขึ้น เช่น คำแม่บท ทุกข์, ชาติ, ผัสสะ, นิวรณ์, ปฏิจจสมุปบาท, นิพพาน, อตัมมยตา เป็นต้น. คำแม่บทแต่ละคำให้คำอธิบายที่นำไปสู่แก่นหรือหัวใจแห่งพระธรรม ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาของการปฏิบัติให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น.

ผู้สนใจธรรมอย่างธรรมดาๆ ทั่วไป: ก็สามารถอ่าน ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม ได้อย่างเพลิดเพลินนาระเช่นเดียวกัน. คำที่สนใจกันโดยมาก เช่น คำว่า กรรม, กิเลส, บุญ, บาป, นรก, สวรรค์ เป็นต้น; เป็นคำที่แม้จะฟังดูเป็นคำพื้นๆ ทั่วไป แต่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง; เพื่อไม่ให้ชีวิตนี้ต้องเป็นทุกข์ เพราะยึดมั่นอยู่ใน บุญ, บาป, นรก, สวรรค์ อย่างมัวเมา จนไม่สนใจในการที่จะประกอบกรรม คือการกระทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัย; จึงมีชีวิตที่คละเคล้าอยู่กับความเศร้าหมองขุ่นมัว เพราะถูกครอบงำอยู่ด้วยอำนาจของกิเลสอยู่เป็นประจำ.

ครูอาจารย์หรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอนศีลธรรมแก่เด็ก, เยาวชนและประชาชนทั่วไป: สามารถใช้ ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม เป็นคู่มือประกอบการสอนได้อย่างดีที่สุด; เพราะได้แยกแยะคำอธิบายในธรรมข้อหนึ่งๆ ถึง ๒๑ อรรถลักษณะ ด้วยคำอธิบายที่เป็นภาษาง่ายๆ ธรรมดา; เพียงแต่ผู้ประสงค์ใช้ต้องอ่านเนื้อความให้ละเอียดถี่ถ้วนจนเข้าใจความหมายชัดเจนด้วยใจเสียก่อน; ต่อจากนั้นก็จะสามารถขยายความและเพิ่มตัวอย่างได้เองโดยไม่ยากเลย.

ผู้บรรยายธรรมทั้งบรรพชิตและฆราวาส: สามารถใช้คำแม่บทหรือข้อความต่างๆ ที่กล่าวไว้ ใน ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม เป็นแนวทางเรียบเรียงคำบรรยายในรูปของธรรมเทศนาหรือปาฐกถาธรรมได้ อย่างที่อาจกล่าวได้ว่าไม่มีที่สิ้นสุด; เพราะถ้ายิ่งอ่านยิ่งใคร่ครวญ ก็จะยิ่งเห็นแง่มุมที่ชวนให้หยิบยกมาสาธยายได้อย่างน่าสนใจ พร้อมทั้งชวนให้เพลิดเพลินในอรรถรสแห่งธรรมนั้น.

แม้ที่สุด ท่านจะไม่จัดตัวท่านเองอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดังกล่าวข้างต้น หากเพียงแต่ลองเปิดอ่าน ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม ด้วยใจที่เป็นกลาง ก็เชื่อได้ว่า ท่านได้เปิดใจให้โอกาสเพื่อการเปิดมิติใหม่แห่งชีวิตแล้ว.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง