[Font : 15 ]
| |
2. การเสพวจีสมาจาร |  

สารีบุตร ! อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม แก่บุคคลผู้เสพอยู่ ซึ่ง วจีสมาจาร (การประพฤติประจำทางวาจา) ชนิดไหนเล่า ? สารีบุตร ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติกล่าวเท็จ ไปในสภาก็ดี ไปในที่ประชุมก็ดี ไปในหมู่ญาติก็ดี ไปในท่ามกลางคนหมู่มากก็ดี ไปในท่ามกลางราชสกุลก็ดี เขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “ท่านผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ว่าไปอย่างนั้น" บุรุษนั้นเมื่อไม่รู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อรู้ก็บอกว่าไม่รู้ ไม่เห็นก็บอกว่าเห็น เห็นก็บอกว่าไม่เห็น ดังนี้ กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่อามิสสินจ้างบ้าง, และเป็นผู้กล่าวคำส่อเสียด ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้ว เก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อแตกจากฝ่ายนี้ หรือได้ฟังจากฝ่ายโน้นแล้ว เก็บมาบอกแก่ฝ่ายนี้ เพื่อแตกจากฝ่ายโน้น ทำคนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ให้แตกจากกัน อุดหนุนส่งเสริมคนที่แตกกันอยู่แล้วให้แตกจากกันยิ่งขึ้น เป็นคนชอบในการเป็นพวก ยินดีในการเป็นพวก เป็นคนพอใจในการเป็นพวก กล่าวแต่วาจาที่ทำให้เป็นพวก, และเป็นผู้กล่าววาจาหยาบ เป็นวาจาทิ่มแทง กักขฬะ เผ็ดร้อน ขัดใจผู้อื่น กลัดกลุ้มอยู่ด้วยความโกรธ ไม่เป็นไปด้วยสมาธิ, และเป็นผู้กล่าววาจาเพ้อเจ้อ ไม่กล่าวตามกาลอันควร ไม่กล่าวตามเป็นจริง ไม่กล่าวโดยอรรถ ไม่กล่าวโดยธรรม ไม่กล่าวโดยวินัย กล่าววาจาไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่ถูกกาละ ไม่ถูกเทศะ ไม่มีที่จบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์. สารีบุตร ! เมื่อเสพวจีสมาจารชนิดนี้แล อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม.

สารีบุตร ! อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ แก่บุคคลผู้เสพอยู่ซึ่ง วจีสมาจาร ชนิดไหนเล่า ? สารีบุตร ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท ไปในสภาก็ดี ไปในที่ประชุมก็ดี ไปในหมู่ญาติก็ดี ไปในท่ามกลางคนหมู่มากก็ดี ไปในท่ามกลางราชสกุลก็ดี เขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “ท่านผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ว่าไปอย่างนั้น” เขานั้นเมื่อรู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ เห็นก็บอกว่าเห็น ไม่เห็นก็บอกว่าไม่เห็น ดังนี้ ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่อามิสสินจ้างบ้าง, และเป็นผู้ ละปิสุณวาจา เว้นขาดจากปิสุณวาจา ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่เก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อแตกจากฝ่ายนี้ หรือได้ฟังจากฝ่ายโน้นแล้ว ไม่เก็บมาบอกแก่ฝ่ายนี้ เพื่อแตกจากฝ่ายโน้น แต่จะสมานคนที่แตกกันแล้ว ให้กลับพร้อมเพรียงกัน อุดหนุนคนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ให้พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น เป็นคนชอบในการพร้อมเพรียง ยินดีในการพร้อมเพรียง พอใจในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน, และเป็นผู้ ละผรุสวาจา เว้นขาดจากผรุสวาจา กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสต ให้เกิดความรัก เป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพที่ชาวเมืองเขาพูดกัน เป็นที่ใคร่ที่พอใจของมหาชน กล่าวแต่วาจาเช่นนั้นอยู่, และเป็นผู้ ละสัมผัปปลาปวาท เว้นขาดจากสัมผัปปลาปวาท กล่าวแต่ในเวลาอันสมควร กล่าวแต่คำจริง เป็นประโยชน์ เป็นธรรม เป็นวินัย กล่าวแต่วาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานที่อ้างอิง มีเวลาจบ ประกอบด้วยประโยชน์ สมควรแก่เวลา. สารีบุตร ! เมื่อเสพวจีสมาจารชนิดนี้ แล อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง