[Font : 15 ]
| |
เห็นผิดจากธรรมชาติ ก็ไม่อาจทำให้แจ้งมรรคผล

ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้นหนอ เมื่อ ตามเห็นสังขารไร ๆ โดยความเป็นของเที่ยง อยู่ จักเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยอนุโลมิกขันติ (ความสมควรแก่อนุโลมิกญาณ) ดังนี้นั้น : นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ;

ผู้ไม่ประกอบพร้อมด้วยอนุโลมิกขันติ จักหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม (ระเบียบแห่งความถูกต้อง) ดังนี้นั้น : นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ;

เมื่อไม่หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามอยู่ จักกระทำให้แจ้งซึ่งโสตาปัตติผล หรือสกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล ดังนี้นั้น : นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

(ปฏิปักขนัย - ฝ่ายตรงกันข้าม)

ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้นหนอ เมื่อ ตามเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยง อยู่ จักเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยอนุโลมิกขันติ ดังนี้นั้น : นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้ ;

ผู้ประกอบพร้อมด้วยอนุโลมิกขันติ จักหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม ดังนี้นั้น : นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้ ;

เมื่อหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามอยู่ จักกระทำให้แจ้งซึ่งโสตาปัตติผล หรือสกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล ดังนี้นั้น : นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้.

- ฉกฺก. อํ. 22/490/369.

(ในกรณีแห่ง การ เห็นสังขารเป็นสุข - เป็นทุกข์ เห็นธรรมเป็นอัตตา - เป็นอนัตตา ก็มีข้อความที่ตรัสไว้ในสูตรถัด ๆ ไป โดยนัยอย่างเดียวกัน.

การเห็นสังขารเป็นของเที่ยงเป็นของสุข เห็นธรรมเป็นอัตตา นั้นเรียกว่า เห็นผิดจากธรรมชาติ, ส่วนการเห็นโดยนัยตรงกันข้ามเรียกว่า เห็นถูกตามธรรมชาติ. ความสมควรแก่อนุโลมิกญาณ คือความสมควรแก่การที่จะเห็นแจ้งอริยสัจ 4 ตามที่เป็นจริง. ระเบียบแห่งความถูกต้อง คือความถูกต้องตามสัมมัตตะ 10 ประการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งการบรรลุมรรคผล).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง