[Font : 15 ]
| |
อริยสัจ 4 เป็นอารมณ์แห่งนิพเพธิกปัญญา |  

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มีคำที่กล่าวกันอยู่ว่า ‘เป็นพหูสูตผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูตผู้ทรงธรรม’ ดังนี้ นั้นเป็นได้ด้วยเหตุเท่าไรหนอ พระเจ้าข้า ?”

ดีจริง ดีจริง ภิกษุ ! ปัญญาของเธอเฉียบแหลม ปฏิภาณงดงาม คำถามสวยสลวย. ภิกษุ ! เธอถามเราว่า เป็นพหูสูต ทรงธรรม กันได้ด้วยเหตุเท่าไร ดังนั้นหรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !”

ภิกษุ ! เราแสดงธรรมแล้ว มากมายครบถ้วนขบวนความ เป็นสุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมม์ เวทัลละ. ภิกษุ ! ผู้รู้อรรถรู้ธรรมแห่งคาถาแม้เพียงสี่บท แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม นั่นแหละควรจะเรียกว่า เป็น พหูสูตผู้ทรงธรรม. “สาธุ พระเจ้าข้า !”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มีคำที่กล่าวกันอยู่ว่า ‘ผู้มีการศึกษามีปัญญาเครื่องเจาะแทงกิเลส ผู้มีการศึกษามีปัญญาเครื่องเจาะแทงกิเลส’ ดังนี้ นั้นเป็นได้ด้วยเหตุเท่าไรหนอ พระเจ้าข้า ?”

ดีจริง ดีจริง ภิกษุ ! ปัญญาของเธอเฉียบแหลม ปฏิภาณงดงาม คำถามสวยสลวย. ภิกษุ ! เธอถามเราว่า ผู้มีการศึกษามีปัญญาเครื่องเจาะแทงกิเลส (นิพเพธิกปัญญา) เป็นกันได้ด้วยเหตุเท่าไร ดังนั้นหรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !”

ภิกษุ ! ในกรณีนี้ ภิกษุ มีการศึกษาอยู่ว่า “อย่างนี้ เป็นความทุกข์” ดังนี้ แล้วแทงตลอดซึ่งเนื้อความแห่งสัจจะนั้น เห็นด้วยปัญญาอยู่ ก็ดี ; มีการศึกษาอยู่ว่า “อย่างนี้ เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์” ดังนี้ แล้วแทงตลอดซึ่งเนื้อความแห่งสัจจะนั้น เห็นด้วยปัญญาอยู่ ก็ดี ; มีการศึกษาอยู่ว่า “อย่างนี้ เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้ แล้วแทงตลอดซึ่งเนื้อความแห่งสัจจะนั้น เห็นด้วยปัญญาอยู่ ก็ดี ; มีการศึกษาอยู่ว่า “อย่างนี้ เป็นหนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้ แล้วแทงตลอดซึ่งเนื้อความแห่งสัจจะนั้น เห็นด้วยปัญญาอยู่ ก็ดี. ภิกษุ ! อย่างนี้แล ชื่อว่า ผู้มีการศึกษา มีปัญญาเครื่องเจาะแทงกิเลส.” “สาธุ พระเจ้าข้า !”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มีคำที่กล่าวกันอยู่ว่า ‘ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก’ ดังนี้ นั้นเป็นได้ด้วยเหตุเท่าไรหนอ พระเจ้าข้า ?”

ดีจริง ดีจริง ภิกษุ ! ปัญญาของเธอเฉียบแหลม ปฏิภาณงดงาม คำถามสวยสลวย. ภิกษุ ! เธอถามเราว่า ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นกันได้ด้วยเหตุเท่าไร ดังนั้นหรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !”

ภิกษุ ! ในกรณีนี้ ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ย่อมไม่คิดไปในทางทำตนเองให้ลำบากเลย ไม่คิดไปในทางทำผู้อื่นให้ลำบาก ไม่คิดไปในทางทำทั้งสองฝ่ายให้ลำบาก ; เมื่อจะคิด ย่อมคิดอย่างเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเอง เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย คือเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งปวงนั่นเอง. ภิกษุ ! อย่างนี้แล ชื่อว่า ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก.

- จตุกฺก. อํ. 21/241/186.

( นิพเพธิกปัญญา ในที่นี้ เป็นคำแทนชื่อของ สัมมาทิฏฐิ จึงนำมาใส่ไว้ในที่นี้ ).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง