[Font : 15 ]
| |
พุทธะ

1. พยัญชนะ : พุทธะโดยพยัญชนะ : คือ ผู้รู้, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน.

2. อรรถะ : พุทธะโดยอรรถะ :

2.1 เป็นผู้รู้สิ่งที่ควรรู้ คือสิ่งที่ดับทุกข์ได้; รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงถึงที่สุด.

2.2 เป็นผู้ตื่นจากหลับคือกิเลส; เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง.

2.3 เป็นผู้เบิกบานอยู่ด้วยสติปัญญาที่รู้แจ้งสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ; เพราะไม่มีความทุกข์รบกวน จึงมีความเบิกบาน.

3. ไวพจน์ : พุทธะโดยไวพจน์ : คือ สัพพัญญู, โลกนาถ, ศาสดา, มุนี, พระพุทธเจ้า ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : พุทธะโดยองค์ประกอบ : องค์ประกอบของความเป็นพระพุทธเจ้า : คือ สุทธิ (ความบริสุทธิ์), ปัญญา (ความรู้ทั่วถึง), เมตตา (ความเมตตากรุณาแก่หมู่สัตว์).

5. ลักษณะ : พุทธะโดยลักษณะ : มีลักษณะแห่งผู้รู้, ผู้สอน, ผู้นำ, ผู้ชี้ทาง, ผู้เปิดเผยความลับของธรรมชาติ ฯลฯ

6. อาการ : พุทธะโดยอาการ : มีอาการตามที่ปรากฏอยู่ในพระพุทธคุณเก้าอย่าง : คือ อาการแห่งผู้หมดกิเลส, ตรัสรู้ชอบเอง, ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ, ไปดี (คือไปจากโลก), รู้แจ้งโลก, ผู้ฝึกมนุษย์, ผู้สั่งสอน, ผู้รู้ - ตื่น - เบิกบาน, ผู้จำแนกแจกแจงธรรม.

7. ประเภท : พุทธะโดยประเภท : แบ่งประเภทเป็นสอง : โดยบุคคลาธิษฐาน คือพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลหนึ่ง; และโดยธรรมาธิษฐาน : คือ พระพุทธเจ้าอย่างธรรมหนึ่ง.

7.1 พระพุทธเจ้าอย่างธรรม : คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา; ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม; ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม”.

7.2 พระพุทธเจ้าอย่างบุคคล มี 4 ประเภท :

1. สัมมาสัมพุทธะ : เป็นผู้ตรัสรู้ถูกต้องครบถ้วนด้วยตนเอง ในขอบเขตที่ไม่จำกัด.

2. ปัจเจกพุทธะ : เป็นผู้ตรัสรู้เองในขอบเขตที่จำกัดเฉพาะตน.

3. อนุพุทธะ : เป็นผู้รู้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่ พระอริยบุคคลทั้งหลาย.

4. สุตพุทธะ : เป็นผู้รู้โดยการได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

8. กฏเกณฑ์ : พุทธะโดยกฎเกณฑ์ : ของความเป็นพระพุทธเจ้า :

8.1 โดยธรรมชาติ มีพระพุทธเจ้าพร้อมกันมากกว่าหนึ่งองค์ในโลกธาตุเดียวกันไม่ได้.

8.2 ต้องเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า (พุทธภูมิ) อย่างสมบูรณ์.

8.3 (ตามที่กล่าวไว้ในบาลี) สตรีไม่อาจจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

8.4 ต้องเป็นสัพพัญญู คือ มีการตรัสรู้ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ทุกเรื่อง ที่เกี่ยวกับการดับทุกข์ทั้งของเทวดาและมนุษย์ และการสอนเกี่ยวกับเรื่องนั้น.

8.5 ต้องมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นทุกคราวที่โลกเป็นกลียุค.

9. สัจจะ : พุทธะโดยสัจจะ :

9.1 เมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะมีอยู่ในสัญชาตญาณที่อาจพัฒนาให้เป็นภาวิตญาณในทุกๆ จิตของสิ่งที่มีชีวิต ; หากแต่ว่าจะได้พัฒนาหรือไม่เท่านั้น.

9.2 ความเป็นพุทธะเป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของกาย แต่ก็ต้องการกายที่เหมาะสมเป็นปัจจัย.

9.3 พระพุทธเจ้าพระองค์จริง คือ ธรรมะที่เป็นกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาท มีอยู่ตลอดกาลนิรันดร; ไม่มีเกิดดับ, ไม่ต้องประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน.

9.4 พุทธภาวะที่แท้จริง คือ ภาวะแห่งปรมานุตตรสุญญตา (ความว่างสูงสุดไม่มีอะไรยิ่งกว่า); คือ ว่างจากสังขารที่เป็นกิเลสและความทุกข์.

9.5 พุทธภาวะชั้นเด็กๆ คือ ความรู้จักผิดชอบชั่วดี อันจะไต่เต้าขึ้นไปถึงชั้นสูงสุด.

10. หน้าที่ : พุทธะโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ (โดยสมมติ) ของโพธิ : (คุณสมบัติของพุทธะ) : คือ การกำจัดอวิชชา.

10.2 หน้าที่ของพุทธะ : คือ การสั่งสอนบุคคลให้รู้จักกำจัดอวิชชา หรือดับทุกข์ โดยความเป็นผู้รู้, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน, ตามพุทธะ.

10.3 หน้าที่ของพุทธะโดยสรุป : คือ การสั่งสอนสัตว์ให้รู้จักทำที่พึ่งให้แก่ตนเอง โดยไม่หวังพึ่งผู้อื่นหรือสิ่งอื่น.

11. อุปมา : พุทธะโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 ประภาคาร.

11.2 มัคคุเทศก์.

11.3 ผู้เปิดประตูคอกแห่งอวิชชา.

11.4 บิดา (ผู้ให้เกิดใหม่ทางวิญญาณ).

ฯลฯ

12. สมุทัย : พุทธะโดยสมุทัย :

12.1 สมุทัยของความเป็นพุทธะ :

1. อุปนิสัยและบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมา.

2. ธรรมที่ทำความเป็นพระพุทธเจ้า.

3. ความประสงค์ที่จะช่วยสัตว์โลกทั้งปวง.

12.2 สมุทัยโดยอ้อม : คือ ความทุกข์ของสัตว์โลก.

13. อัตถังคมะ : พุทธะโดยอัตถังคมะ : เมื่อโลกไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกกันว่า สิ้นพุทธันดร (ระยะเวลาที่ว่างพระพุทธเจ้า).

14. อัสสาทะ : พุทธะโดยอัสสาทะ :

14.1 อัสสาทะ มีเฉพาะแก่ฝ่ายผู้มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะตามสมควรแก่กรณี.

14.2 อีกระดับหนึ่ง มีแก่ผู้หลงใหลยึดมั่นในพุทธะ แม้ด้วยอำนาจของศรัทธา.

15. อาทีนวะ : พุทธะโดยอาทีนวะ : ไม่มี.

16. นิสสรณะ : พุทธะโดยนิสสรณะ :

16.1 พุทธะหรือพุทธภาวะ เป็นนิสสรณะ (ทางออกจากทุกข์) อยู่ในตัวมันเอง.

16.2 บุคคลที่มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ย่อมมีนิสสรณะอยู่ในตัวสรณะนั่นเอง.

17. ทางปฏิบัติ : พุทธะโดยทางปฏิบัติ : เพื่อความเป็นพุทธะ :

17.1 มีเจตนาเพื่อการดับทุกข์ของสรรพสัตว์.

17.2 บำเพ็ญบารมีเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า.

17.3 ค้นหาจนพบความจริงเรื่องอริยสัจ หรือ ปฏิจจสมุปบาท.

18. อานิสงส์ : พุทธะโดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์ของความเป็นพุทธะที่มีต่อพระองค์เอง : คือ สามารถดับทุกข์ของสรรพสัตว์.

18.2 อานิสงส์ของความเป็นพุทธะที่มีต่อสัตว์โลกทั้งปวง : คือ สามารถดับทุกข์ได้.

19. หนทางถลำ : พุทธะโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ภาวะแห่งความเป็นพุทธะ.

19.1 มีชีวิตการเป็นอยู่ด้วยสติปัญญา.

19.2 มีชีวิตการเป็นอยู่ด้วยเมตตา.

19.3 มีชีวิตการเป็นอยู่ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : พุทธะโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

20.1 สัตว์โลกตกอยู่ในกลียุค คือ ห้วงแห่งความทุกข์.

20.2 มีมหาเมตตากรุณาในการช่วยสรรพสัตว์.

20.3 โอกาสและความเหมาะสมเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : พุทธะโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : พระพุทธเจ้าอย่างบุคคลในประวัติศาสตร์ มีการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน.

ภาษาธรรม : คือ กฎความจริงของธรรมชาติที่ได้ตรัสรู้และนำมาสอน เป็นสิ่งนิรันดร; ไม่ต้องมีการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ใครคือใคร ?

2. พุทธจริยา

3. พระพุทธคุณบรรยาย


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง