[Font : 15 ]
| |
อายตนะยังไม่ทําหน้าที่ปัญจุปาทานขันธ์ ก็ยังไม่เกิด

อายตนะยังไม่ทำหน้าที่ปัญจุปาทานขันธ์ ก็ยังไม่เกิดPTC91

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนอวกาศถูกแวดล้อมปิดกั้นไว้แล้ว (ส่วนหนึ่ง) โดยอาศัยไม้ด้วยเถาวัลย์ด้วย ดินเหนียวด้วย หญ้าด้วย ย่อมถึงซึ่งการนับว่า “เรือน” ดังนี้ ฉันใด ; ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! อวกาศถูกแวดล้อมปิดกั้นไว้แล้ว (ส่วนหนึ่ง) โดยอาศัยกระดูกด้วย เอ็นด้วย เนื้อด้วย หนังด้วย ยอมถึงซึ่งการนับว่า “รูป (กาย)” ดังนี้ ; ฉันนั้น.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! แม้หากว่า. จักษุ (ตา) อันเป็นอายตนะภายในเป็นของไม่แตกทำลาย. และรูปทั้งหลายอันเป็นอายตนะภายนอก ก็ยังไม่มาสู่คลอง (แห่งจักษุ). ทั้งสมันนาหารจิตPTC92 อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ก็ไม่มี, แล้วไซร้ ; ความปรากฏแห่งส่วนของวิญญาณ อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ก็ยังจะไม่มีก่อน.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! แม้หากว่า. จักษุอันเป็นอายตนะภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย, และรูปทั้งหลายอันเป็นอายตนะภายนอก ก็มาสู่คลอง (แห่งจักษุ) ; แต่ว่าสมันนาหารจิต อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ก็ไม่มี, แล้วไซร้ ; ความปรากฏแห่งส่วนของวิญญาณ อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ก็ยังจะไม่มีอยู่นั่นเอง

ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ! ก็แต่ว่า ในกาลใดแล จักษุอันเป็นอายตนะภายในนั่นเทียว เป็นของไม่แตกทำลาย. และรูปทั้งหลายอันเป็นอายตนะภายนอก ก็มาสู่คลอง (แห่งจักษุ) : ทั้งสมันนาหารจิต อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ก็มีด้วย. แล้วไซร้ ; เมื่อเป็นดังนี้ ความปรากฏแห่งส่วนของวิญญาณ อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ย่อมมี ในกาลนั้น.

รูปใด (ที่เป็นของเกิดร่วม) แห่งสมันนาหารจิตอันเกิดแล้วอย่างนั้น, รูปนั้น ย่อมถึงซึ่งการสังเคราะห์ใน รูปูปาทานขันธ์ ; เวทนาใด (ที่เป็นของเกิดร่วม) แห่งสมันนาหารจิตอันเกิดแล้วอย่างนั้น. เวทนานั้น ย่อมถึงซึ่งการสงเคราะห์ในเวทนูปาทานขันธ์ ; สัญญาใด (ที่เป็นของเกิดร่วม) แห่งสมันนาหารจิตอันเกิดแล้ว อย่างนั้น. สัญญานั้น ย่อมถึงซึ่งการสงเคราะห์ในสัญญปาทานขันธ์ ; สังขารทั้งหลายเหล่าใด (ที่เป็นของเกิดร่วม) แห่งสมันนาหารจิตอันเกิดแล้วอย่างนั้น. สังขารทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมถึง ย่อมถึงซึ่งการสงเคราะห์ในสังขารูปาทานขันธ์ : วิญญาณใด (ที่เป็นของเกิดร่วม) แห่งสมันนาหารจิตอันเกิดแล้วอย่างนั้น, วิญญาณนั้น ย่อมถึง ซึ่งการสงเคราะห์ใน วิญญาณูปาทานขันธ์.

ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า การสงเคราะห์ การประชุมพร้อมการรวมหมู่กัน แห่งอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เหล่านี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้.

ก็แล คำนี้ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้วว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท, ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม : ผู้ใดเห็นธรรม, ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท" ดังนี้ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่า ปฏิจจสมฺปปันนธรรม; กล่าวคือ ปัญจุปาทานขันธ์ ทั้งหลาย.

ธรรมใด เป็นความเพลิน เป็นความอาลัย เป็นความติดตาม เป็นความสยบมัวเมาในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย 5 ประการเหล่านี้ ; ธรรมนั้น ชื่อว่าทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์) ;

ธรรมใด เป็นความนำออกซึ่งฉันทราคะ เป็นความละขาดซึ่งฉันทราคะ ในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย 5 ประการ เหล่านี้ : ธรรมนั้น ชื่อว่า ทุกขนิโรธ (ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์) ดังนี้.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ด้วยการปฏิบัติมีประมาณเพียงเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าเป็นสิ่งที่ภิกษุประพฤติกระทำให้มากแล้ว.

... ... ... ...

(จบข้อความอันเกี่ยวกับอายตนะที่ 1 คือตากับรูป ดังนี้แล้ว ต่อไปนี้ เป็นข้อความที่เกี่ยวกับอายตนะที่ 2 เป็นลำดับต่อไป จนถึงอายตนะที่ 6 ซึ่งในที่นี้จะละไว้ด้วย...ฯลฯ... สำหรับอายตนะที่ 2 ถึงอายตนะที่ 5, แล้วจะใส่ข้อความเต็มสำหรับอายตนะที่ 6 อีกครั้งหนึ่ง ขอให้สังเกตจนเข้าใจได้ตามนี้)

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! แม้หากว่า, โสต (หู) อันเป็นอายตนะภายใน เป็นของไม่แตก ทำลาย, และเสียงทั้งหลายอันเป็นอายตนะภายนอก ก็ยังไม่มาสู่คลอง (แห่งโสต), ...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ... ภิกษุประพฤติกระทำให้มากแล้ว.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! แม้หากว่า, ฆาน (จมูก) อันเป็นอายตนะภายใน เป็นของไม่แตก ทำลาย, และกลิ่นทั้งหลายอันเป็นอายตนะภายนอก ก็ยังไม่มาสู่คลอง (แห่งฆาน), ...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ... ภิกษุประพฤติกระทำให้มากแล้ว.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! แม้หากว่า, ชิวหา (ลิ้น) อันเป็นอายตนะภายใน เป็นของไม่แตก ทำลาย, และรสทั้งหลายอันเป็นอายตนะภายนอก ก็ยังไม่มาสู่คลอง (แห่งชิวหา), ...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ... ภิกษุประพฤติกระทำให้มากแล้ว.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! แม้หากว่า, กาย อันเป็นอายตนะภายในเป็นของไม่แตก ทำลาย, และโผฎฐัพพะทั้งหลายอันเป็นอายตนะภายนอก ก็ยังไม่มาสู่คลอง (แห่งกาย, ...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ... ภิกษุประพฤติกระทำให้มากแล้ว.

... ... ... ...

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! แม้หากว่า, มโน (ใจ) อันเป็นอายตนะภายใน เป็นของไม่แตก ทำลาย, และธัมมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นอายตนะภายนอกก็ยังไม่มาสู่คลอง (แห่งมโน) ทั้งสมันนาหารจิต อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ก็ไม่มี, แล้วไซร้; ความปรากฏแห่งส่วนของวิญญาณ อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ก็ยังจะไม่มีก่อน.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! แม้หากว่า, มโน อันเป็นอายตนะภายใน เป็นของไม่แตก ทำลาย, และธัมมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นอายตนะภายนอกก็ยังไม่มาสู่คลอง (แห่งมโน) แต่ว่าสมันนาหารจิต อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ยังไม่มี, แล้วไซร้; ความปรากฏแห่งส่วนของวิญญาณ อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ก็ยังจะไม่มีอยู่นั่นเอง.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย! ก็แต่ว่า, ในกาลใดแล มโนอันเป็นอายตนะภายในนั่นเที่ยว เป็นของไม่แตกทำลาย, และธัมมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นอายตนะภายนอก ก็มาสู่คลอง (แห่งมโน) ทั้งสมันนาหารจิต อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้นก็มีด้วย, แล้วไซร้ ; เมื่อเป็นดังนี้ ความปรากฏแห่งส่วนของวิญญาณ อันเกิดจากอายตนะ 2 อย่างนั้น ย่อมมี ในกาลนั้น.

รูปใด (ที่เป็นของเกิดร่วม) แห่งสมันนาหารจิตอันเกิดแล้วอย่างนั้น รูปนั้น ย่อมถึงซึ่งการสงเคราะห์ใน รูปูปาทานขันธ์ ; เวทนาใด (ที่เป็นของเกิดร่วม) แห่งสมันนาหารจิตอันเกิดแล้วอย่างนั้น, เวทนานั้น ย่อมถึงซึ่งการสงเคราะห์ใน เวทนูปาทานขันธ์ ; สัญญาใด (ที่เป็นของเกิดร่วม) แห่งสมันนาหารจิตอันเกิดแล้วอย่างนั้น, สัญญานั้น ย่อมถึงซึ่งการสงเคราะห์ใน สัญญูปาทานขันธ์ ; สังขารทั้งหลายเหล่าใด (ที่เป็นของเกิดร่วม) แห่งสมันนาหารจิตอันเกิดแล้วอย่างนั้น, สังขารทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมถึงซึ่งการสงเคราะห์ใน สังขารูปาทานขันธ์ ; วิญญาณใด (ที่เป็นของที่เกิดร่วม) แห่งสมันนาหารจิตอันเกิดแล้วอย่างนั้น, วิญญาณนั้น ย่อมถึงซึ่งการสงเคราะห์ในวิญญาณูปาทานขันธ์.

ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า การสงเคราะห์ การประชุมพร้อมการรวมหมู่กัน แห่งอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เหล่านี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้.

ก็แล คำนี้ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้วว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท,ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ; ผู้ใดเห็นธรรม, ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท" ดังนี้ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม ; กล่าวคือ ปัญจุปาทานขันธ์ทั้งหลาย.

ธรรมใด เป็นความเพลิน เป็นความอาลัย เป็นความติดตาม เป็นความสยบมัวเมาในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย 5 ประการเหล่านี้ ; ธรรมนั้น ชื่อว่า ทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์) ;

ธรรมใด เป็นความนำออกซึ่งฉันทราคะ เป็นความละขาดซึ่งฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย 5 ประการ เหล่านี้; ธรรมนั้น ชื่อว่า ทุกขนิโรธ (ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์) ดังนี้.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ด้วยการปฏิบัติมีประมาณเพียงเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าเป็นสิ่งที่ภิกษุประพฤติกระทำให้มากแล้ว ดังนี้ แล.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า คำกล่าวของพระสารีบุตรเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า วิญญาณ, หรือปัญจุปาทานขันธ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อไร ; และที่สำคัญที่สุดก็คือว่า การเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ หรือปัญจุปาทานขันธ์ ในลักษณะเช่นที่กล่าวในสูตรนี้ นั่นแหละคือการเกิดขึ้นของปฏิจจสมุปบาทโดยตรง, กล่าวให้เจาะจงกว่านั้นอีก ก็คือ เมื่อสมันนาหารจิตเกิดขึ้น ทางอายตนะใดอายตนะหนึ่งนั่นเอง. การเห็นการเกิดดับอย่างนี้ คือเห็นปฏิจจสมุปบาท หรือทุกขสมุทัย และทุกขนิโรธ, โดยพฤตินัย ก็คือเห็นอริยสัจสี่โดยแท้จริง ด้วยปัญญาจักษุ หรือยถาภูตสัมมัปปัญญา, จึงมีค่าเท่ากับเห็นธรรม หรือเห็นตถาคต.

ใจความสำคัญของเรื่องอยู่ที่ว่า ปฏิจจสมุปบาทตั้งต้น เมื่อสมันนาหารจิตทำหน้าที่ทางอายตนะ ; ขอให้กำหนดไว้ เป็นหลักสำคัญ เกี่ยวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท สืบไป.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ