[Font : 15 ]
| |
ศีลธรรม

1. พยัญชนะ : ศีลธรรมโดยพยัญชนะ :

1.1 ภาวะแห่งความปกติ.

1.2 ธรรมที่ทำความปกติ.

1.3 ธรรมที่เป็นความปกติ.

2. อรรถะ : ศีลธรรมโดยอรรถะ :

2.1 ศีลธรรมในความหมายที่ใช้กันทั่วไป : หมายถึงธรรมะขั้นพื้นฐานยังไม่ถึงขั้นปรมัตถ์.

2.2 “ธรรม” ในความหมายตามภาษาบาลีก็ดี; หรือภาษาธรรมที่ใช้ในทางศาสนาทั้งหมดทุกชั้นทุกระดับก็ดี ; ย่อมหมายถึงนิพพานด้วย ; เพราะไม่มีอะไรจะทำความปกติเท่ากับนิพพาน.

2.3 ได้แก่ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เป็นอยู่ตามปกติ ; ไม่มีอะไรปรุงแต่งแทรกแซง.

3. ไวพจน์ : ศีลธรรมโดยไวพจน์ : โดยพยัญชนะไม่มี, มีแต่โดยอรรถะ : คือ คำว่า โลกิยธรรม ได้แก่ธรรมที่เป็นวัฏฏคามินีปฏิปทาA71 ทั่วๆ ไป.

4. องค์ประกอบ : ศีลธรรมโดยองค์ประกอบ :

4.1 องค์ประกอบที่จะทำให้เรียกได้ว่าศีลธรรม :

1. ความรู้ที่ถูกต้องและเพียงพอ ; การปฏิบัติที่ถูกต้องและเพียงพอ ; ผลของการปฏิบัติที่ถูกต้องและเพียงพอ.

2. วัฒนธรรมพื้นฐานประจำบ้านเรือนถูกต้อง ; สิ่งแวดล้อมถูกต้อง ; การศึกษาถูกต้อง.

3. ต้องเป็นสิ่งที่อาจจะเรียนรู้ได้; อาจจะเข้าใจได้; อาจจะปฏิบัติได้.

4.2 องค์ประกอบของการทำให้เกิดศีลธรรม :

1. ต้องมีการสอน.

2. ต้องมีการปฏิบัติ.

3. ต้องมีการช่วยให้ปฏิบัติสำเร็จ.

5. ลักษณะ : ศีลธรรมโดยลักษณะ :

5.1 มีความหมายเหมาะสมสำหรับเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานของสังคม.

5.2 ไม่สูงถึงปรมัตถธรรม.

5.3 มีลักษณะพร้อมที่จะเป็นบาทฐานของปรมัตถธรรม.

6. อาการ : ศีลธรรมโดยอาการ :

6.1 เคลื่อนไหวไปทางสร้างสรรค์ความสงบ.

6.2 เคลื่อนไหวไปในทางยุติวิกฤตการณ์.

6.3 เคลื่อนไหวไปในทางสร้างสรรค์มิตรภาพทุกระดับ.

7. ประเภท : ศีลธรรมโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสาม :

1. ศีลธรรมระดับบุคคล.

2. ศีลธรรมระดับสังคม.

3. ศีลธรรมระดับโลก.

7.2 แบ่งโดยประเภทสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. ศีลธรรมที่ยึดหลักศาสนาตามกฎธรรมชาติ.

2. ศีลธรรมที่มนุษย์ตกลงสมมติบัญญัติขึ้น.

กลุ่มที่ 2 :

1. ศีลธรรมที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับกาละเทศะ.

2. ศีลธรรมที่ต้องขึ้นอยู่กับกาละเทศะ.

กลุ่มที่ 3 :

1. ศีลธรรมที่เป็นไปเพื่อวัฏฏคามินี : คือ ส่งเสริมเพื่อเป็นไปตามวัฏฏะ.

2. ศีลธรรมที่เป็นไปเพื่อวิวัฏฏคามินี : คือ ส่งเสริมเพื่อออกจากวัฏฏะ : เช่น การให้ทาน เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง :

เอาสวรรค์ = วัฏฏะ

ให้หมด “ตัวกู” = วิวัฏฏะ

8. กฎเกณฑ์ : ศีลธรรมโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 เว้นในสิ่งที่ควรเว้น กระทำในสิ่งที่ควรกระทำ ; ช่วยเฉพาะในสิ่งที่ควรช่วย ; ยกย่องสรรเสริญในที่ควร.

8.2 ทำดี ดีเสร็จแต่เมื่อทำ ไม่ต้องรอการได้ดี ; ทำชั่ว ชั่วเสร็จแต่เมื่อทำ ไม่ต้องรอการได้ชั่ว.

8.3 การได้ผลพลอยได้ทีหลังนั้นไม่เป็นประมาณ: ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ได้ ; ตรงตามความประสงค์ก็ได้ ไม่ตรงตามความประสงค์ก็ได้.

8.4 ลาภผลที่ได้มาจากการทำชั่ว ก็ถือว่าเป็นของชั่ว; ไม่พึงปรารถนา.

8.5 คนรวย, คนสวย, คนฉลาด, คนสามารถ ฯลฯ ยังไม่แน่ว่าเป็นคนมีศีลธรรม.

8.6 คนจน, คนขี้เหร่, คนไม่ฉลาด, คนไม่สามารถ ฯลฯ ก็มีศีลธรรมได้.

8.7 สังคมทุกชนิดต้องมีศีลธรรมเป็นหลักสำหรับความอยู่รอด.

9. สัจจะ : ศีลธรรมโดยสัจจะ :

9.1 ศีลธรรมเป็นสิ่งที่ต้องมีเหตุผลทางปรมัตถธรรมเป็นรากฐาน.

9.2 การปฏิบัติตามแนวทางไสยศาสตร์อย่างถูกต้องนั้น ; จะต้องเป็นการส่งเสริมศีลธรรมตามแบบของคนปัญญาอ่อน.

9.3 ศีลธรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์.

9.4 ไม่มีปัญหาใดๆ ในโลกที่มิได้มาจากการขาดศีลธรรม.

9.5 ศีลธรรมมีทั้งที่ตรงตามกฎธรรมชาติ และที่อำนวยตามความประสงค์ของมนุษย์.

9.6 ศีลธรรมเป็นรากฐานของวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี.

9.6 ศีลธรรมเป็นรากฐานของวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี.

10. หน้าที่ : ศีลธรรมโดยหน้าที่ (โดยสมมติ) :

10.1 กำจัดเสนียดจัญไรในโลก.

10.2 ในการทำคนให้เป็นมนุษย์.

10.3 ในการแก้ปัญหาของสังคมทุกระดับ.

10.4 ในการกำจัดความเห็นแก่ตัวของสังคม.

10.5 เข้ามาแทรกแซงในกิจกรรมของมนุษย์ทุกกรณี.

11. อุปมา : ศีลธรรมโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 ร่มเงาแห่งพฤกษาชาติสำหรับโลก.

11.2 ภูมิป้องกันโรคขั้นพื้นฐาน.

11.3 เครื่องนุ่งห่มที่ปกปิดความละอาย และให้ความสวยงาม.

12. สมุทัย : ศีลธรรมโดยสมุทัย :

12.1 ความมีหิริโอตตัปปะ.

12.2 ความกลัวการถูกลงโทษ กลัวความตกต่ำทางสังคม.

12.3 ความอยากได้สวรรค์.

12.4 การทำตามกันมาตามประเพณีของวงศ์ตระกูลและสังคม.

12.5 การทำด้วยความกตัญญูต่อบุพการี.

12.6 การคบสัตบุรุษ.

12.7 การมองเห็นโทษของความไม่มีศีลธรรม.

12.8 ความมีสัมมาทิฏฐิ.

12.9 ความอยากดับทุกข์ในขั้นเริ่มต้น.

13. อัตถังคมะ : ศีลธรรมโดยอัตถังคมะ :

13.1 เมื่อถูกกิเลสครอบงำ

13.2 เมื่อพ้นกาละเทศะ อันเป็นต้นเหตุแห่งปัญหา.

14. อัสสาทะ : ศีลธรรมโดยอัสสาทะ :

14.1 ความอุ่นใจว่าจะได้สวรรค์ หรือสิ่งที่ปรารถนา.

14.2 ความหวังในทางบวกทุกชนิด.

14.3 ความมีหน้ามีตา มีชื่อเสียงเกียรติยศในสังคม.

15. อาทีนวะ : ศีลธรรมโดยอาทีนวะ : ไม่ควรจะกล่าวว่ามี (แม้ความยากลำบากหมดเปลืองในการปฏิบัติศีลธรรม ก็ไม่ถือว่าเป็น อาทีนวะ) ; จะมีบ้าง ก็ต่อเมื่อหลงใหลมัวเมายึดถือด้วยอุปาทาน ในผลของความมีศีลธรรม.

16. นิสสรณะ : ศีลธรรมโดยนิสสรณะ : ไม่มี สำหรับการออกจากศีลธรรม ; แต่มีสำหรับออกจากความหลงใหลเข้าใจผิดในผลของศีลธรรม ซึ่งเรียกว่าสีลัพพตปรามาส.

17. ทางปฏิบัติ : ศีลธรรมโดยทางปฏิบัติ : เพื่อเข้าถึงศีลธรรม :

17.1 ควบคุมสัญชาตญาณอย่างสัตว์ คือ ความรู้สึกทางอายตนะที่เป็นเหตุให้เกิดความเห็นแก่ตัว.

17.2 ระวังให้มีความถูกต้องทั้งทางวัตถุ, ทางกาย, ทางจิต, ทางสติปัญญา.

17.3 ให้มีการอยู่กันอย่างเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ใช่อย่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือนายทุนกับชนกรรมาชีพ.

17.4 ยอมรับความที่ธรรมชาติสร้างมาเพื่อการอยู่กันเป็นสังคม ; มิใช่เพื่อต่างคนต่างอยู่.

18. อานิสงส์ : ศีลธรรมโดยอานิสงส์ :

18.1 มีสันติสุขส่วนบุคคล.

18.2 มีสันติภาพของสังคม.

18.3 เป็นบันไดแห่งการเข้าถึงนิพพาน.

18.4 ทำให้มนุษย์มีความแปลกแตกต่างจากสัตว์.

18.5 มีสวรรค์ตัวอย่างที่นี่ และเดี๋ยวนี้.

18.6 มีภาวะปกติในทุกความหมายของคำว่า “ศีล”

19. หนทางถลำ : ศีลธรรมโดยหนทางถลำ : เข้าสู่ความมีศีลธรรม :

19.1 ถูกความทุกข์ทรมานบีบคั้น.

19.2 กรรมพันธุ์ดี.

19.3 สิ่งแวดล้อมดี.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ศีลธรรมโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : กับความมีศีลธรรม :

20.1 การศึกษาอบรมที่ถูกต้อง (ที่เป็นไปเพื่อการทำลายความเห็นแก่ตัว).

20.2 วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม (ที่เห็นแก่ประโยชน์ของทุกฝ่าย).

20.3 ความมีหิริโอตตัปปะเป็นนิสัย.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ศีลธรรมโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : เป็นเรื่องโลกิยะ.

ภาษาธรรม : เป็นเรื่องทั้งโลกิยะ และโลกุตตระ.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. การกลับมาแห่งศีลธรรม

2. ธรรมะกับการเมือง

3. เมื่อธรรมครองโลก

4. เยาวชนกับศีลธรรม

5. ศีลธรรมกับมนุษยโลก

6. อริยศีลธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง