[Font : 15 ]
| |
ทรงปล่อยปวงสัตว์ เหมือนการปล่อยฝูงเนื้อ |  

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนฝูงเนื้อฝูงใหญ่ เข้าไปอาศัยอยู่ที่ราบลุ่มใหญ่ใกล้ป่ากว้าง. เกิดมีบุรุษคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ปรารถนาความไม่ปลอดภัย ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แก่ฝูงเนื้อนั้น. เขาปิดหนทางอันเกษม สะดวก ไปได้ตามชอบใจ ของเนื้อเหล่านั้นเสีย; เปิดทางอันตรายไว้; วางเนื้อล่อตัวผู้ไว้; ตั้งเนื้อล่อตัวเมียไว้ : ภิกษุ ท.! ด้วยการกระทำอย่างนี้ เนื้อฝูงใหญ่นั้น ก็ถึงความวินาศเบาบางไป ในสมัยต่อมา.

ภิกษุ ท.! กะเนื้อฝูงใหญ่ฝูงนั้นเอง, เกิดมีบุรุษคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ปรารถนาความปลอดภัย เป็นประโยชน์เกื้อกูล. เขาเปิดหนทางอันเกษม สะดวกไปได้ตามชอบใจ ของเนื้อเหล่านั้น; ปิดหนทางอันตรายเสีย; ถอนเนื้อล่อตัวผู้เสีย; ทำลายเนื้อล่อตัวเมียเสีย : ภิกษุ ท.! ด้วยการกระทำอย่างนี้ เนื้อฝูงใหญ่นั้น ก็ถึงความเจริญ งอกงาม คับคั่ง ในสมัยต่อมา.

ภิกษุ ท.! อุปมานี้เราทำขึ้น เพื่อให้รู้เนื้อความ. ข้อความต่อไปนี้เป็นเนื้อความในอุปมานั้น :

คำว่า "ที่ราบลุ่มใหญ่" นั่นเป็นชื่อของกาม ท.;

คำว่า "ฝูงเนื้อฝูงใหญ่" นั่นเป็นชื่อของสัตว์ ท.;

คำว่า "บุรุษผู้ปรารถนาความไม่ปลอดภัย ฯลฯ" นั่นเป็นชื่อของมารผู้มีบาป;

คำว่า "ทางอันตราย" นั่นเป็นชื่อของมิฉามรรคอันประกอบด้วยองค์แปด กล่าวคือ มิจฉาทิฎฐิ (ความเห็นผิด), มิจฉาสังกัปปะ (ความดำริผิด), มิจฉาวาจา (การพูดจาผิด), มิจฉากัมมันตะ (การทำการงานผิด), มิจฉาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตผิด), มิฉาวายามะ (ความพากเพียรผิด), มิจฉาสติ (ความระลึกผิด), มิจฉาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นผิด);

คำว่า "เนื้อล่อตัวผู้" นั่นเป็นชื่อของนันทิราคะ;

คำว่า "เนื้อล่อตัวเมีย" นั่นเป็นชื่อของอวิชชา;

คำว่า "บุรุษผู้ปรารถนาความปลอดภัย ฯลฯ" นั่นเป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ;

คำว่า "หนทางอันเกษม ฯลฯ" นั่นเป็นชื่อของอริยอัฎฐังคิกมรรคกล่าวคือ สัมมาทิฎฐิ (ความเห็นชอบ), สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ), สัมมาวาจา(การพูดจาชอบ), สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ), สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ), สัมมาวายามะ (ความพากเพียรชอบ), สัมมาสติ (ความระลึกชอบ), สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ).

ภิกษุ ท.! ดังนี้แล เป็นอันกล่าวได้ว่า หนทางอันเกษม สะดวกไปได้ตามชอบบใจ เป็นทางที่เราเปิดแล้ว; ทางอันตรายเราปิดแล้ว; เนื้อล่อตัวผู้เราถอนแล้ว; เนื้อล่อตัวเมีย เราทำลายแล้ว.

ภิกษุ ท.! กิจอันใด ที่พระศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลอาศัยความเอ็นดูแล้วจะพึงทำแก่สาวก ท.; กิจอันนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ ท.ภิกษุ ท.! นั่นโคนไม้ ท. นั่น เรือนว่าง ท. ภิกษุ ท.! พวกเธอ ท. จงเพียรเผากิเลส, อย่าได้ประมาท. พวกเธอ ท. อย่าได้เป็นผู้ที่ตัองร้อนใจ ในภายหลังเลย. นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอ ท. ของเรา.

- บาลี เทวธาวิตักกสูตร มู.ม. 12/238/254. ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่เชตวัน ใกล้เมืองสาวัตถี.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง