[Font : 15 ]
| |
ครั้งมีพระชาติเป็น ปุโรหิต สอนการบูชายัญญ์ |  

พราหมณ์! ในสมัยนั้น เราเป็นพราหมณ์ผู้ปุโรหิต ผู้สั่งงานบูชายัญญ์ของพระเจ้ามหาวิชิตราช.07.4

พราหมณ์! เรื่องมีแล้วในกาลก่อน. พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นราชาผู้มั่งคั่ง มีทรัยพ์สมบัติมาก มีทองและเงินเหลือเฟือ มีอุปกรณ์ของทรัพย์เหลือเฟือ มีทรัพย์และข้าวเปลือกเหลือเฟือ มียุ้งฉางเต็มล้น. วันหนึ่งประทับอยู่ ณ ที่สงัด เกิดพระดำริว่า `เราได้เสวยมนุษยสมบัติอันวิบูล ครอบครองปฐพีมณฑลอันใหญ่ยิ่ง ถ้ากระไร เราควรบูชามหายัญญ์ อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่เราสิ้นกาลนาน' รับสั่งให้หาพราหมณ์ปุโรหิตมาบอกพระดำรินี้แล้ว ขอให้บอกสอนวิธีการบูชายัญญ์.

พราหมณ์! ปุโรหิตได้ทูลสนองพระดำรัสนั้นว่า `แว่นแคว้นของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนามหลักตอ การปล้นฆ่าในหมู่บ้านก็ยังปรากฎ การปล้นฆ่าในจังหวัดก็ยังปรากฎ. การปล้นฆ่าในนครก็ยังปรากฎการแย่งชิงตามระยะหนทางก็ยังปรากฎ. และถ้าพระองค์จะให้เลิกเก็บส่วย ในขณะที่แว่นแคว้นเป็นไปด้วยเสี้ยนหนามหลักตอเช่นนี้ ก็จะได้ชื่อว่าทำกิจไม่ควรทำ. อีกประการหนึ่ง พระองค์อาจทรงพระดำริว่า เราจักถอนหลักตอ คือโจรผู้ร้ายเสียได้ด้วยการประหาร การจองจำ การริบ การประจาน หรือการเนรเทศ ดังนี้ ข้อนี้ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการกำจัดได้ราบคาบด้วยดี เพราะผู้ที่ยังเหลือจากการถูกประหารก็ยังมีชนพวกนี้จะเบียดเบียนชนบทของพระองค์ในภายหลัง. แต่ว่ามีอุบายที่จะถอนหลักตอเหล่านั้นให้ราบคาบด้วยดีได้ คือ ชนเหล่าใดบากบั่นเลี้ยงโคเพื่อกสิกรรมพระองค์จงประทานพืชพันธุ์ข้าวแก่ชนเหล่านั้น. ชนเหล่าใดบากบั่นในวาณิชยกรรมพระองค์จงประทานเงินเพิ่มให้ชนเหล่านั้น. ชนเหล่าใดเป็นข้าราชการ ขอพระองค์จงประทานเบี้ยเลี้ยงแก่ชนพวกนั้น. มนุษย์เหล่านั้นต่างจะขวนขวายในการงานของตน ไม่เบียนเบียนแว่นแคว้นของพระองค์ และพระคลังหลวงก็จะเพิ่มพูนมากมาย. แว่นแคว้นจะตั้งอยู่ด้วยความเกษม ปราศจากเสี้ยนหนามหลักตอ. พวกมนุษย์จะร่าเริงบันเทิง นอนชูบุตรให้เต้นฟ้อนอยู่บนอก แม้จักไม่ปิดประตูเรือนในเวลาค่ำคืน ก็เป็นอยู่ได้'. ...ฯลฯ... ...ฯลฯ...

พราหมณ์! ครั้นชนบทนั้นสงบจากเสี้ยนหนามหลักตอแล้ว ปุโรหิตจึงกราบทูลวิธีแห่งมหายัญญ์ (อันประกอบด้วยบริกขาร 16 คือได้รับความยินยอมเห็นพ้องจากกษัตริย์เมืองออก จากอมาตยบริษัทจากพราหมณ์มหาศาล และจากคหบดีมหาศาล นี้จักเป็นบริกขาร 4, พระเจ้ามหาวิชิตประกอบด้วยองคคุณ 8 มีพระชาติอันดี มีพระรูปสง่างามเป็นต้นนี้เป็นบริกขารอีก 8; และปุโรหิตประกอบด้วยองคคุณ 4 มีความเป็นผู้มีชาติบริสุทธิ์ และจบเวทเป็นต้น นี่เป็นบริกขารอีก 4 รวมเป็น 16; และกราบทูลประการ 3 แห่งยัญญ์ คือผู้บูชาต้องไม่เกิดวิปฎิสารด้วยความตระหนี่ ทั้งในขณะจะบูชา บูชาอยู่ และบูชาเสร็จแล้ว; แล้วกราบทูลเหตุไม่ควรวิปฎิสารเพราะปฎิคาหกผู้มารับทาน 10 จำพวก เช่นเป็นคนทำปาฎาติบาตอทินนาทาน ฯลฯเป็นต้น, เพื่อไม่ให้เกิดเสียพระทัยว่าคนเลว ๆ มารับทาน.)07.5 ...ฯลฯ...

พราหมณ์! ในการบูชายัญญ์นั้น โค แพะ แกะ ไก่ สุกร ไม่ได้ถูกฆ่า สัตว์อื่นๆ ก็ไม่ต้องได้รับความวิบัติพลัดพราก ต้นไม้ก็ไม่ถูกตัดมาเพื่อหลักยัญญ์, เชื้อเพลิงก็ไม่ถูกเกี่ยวตัดมาเพื่อการเบียดเบียนสัตว์ใดให้ลำบาก.พวกที่เป็นทาส เป็นคนใช้และกรรมกร ก็ไม่ต้องถูกคุกคามด้วยอาชญา และความกลัว, ไม่ต้องร้องไห้น้ำตานองหน้าพลาง ทำการงานพลาง. ใครปรารถนาจะทำก็ทำ, ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ, ปรารถนาทำสิ่งใด ก็ทำเฉพาะสิ่งนั้นไม่ปรารถนาทำสิ่งใด ก็ไม่ต้องทำสิ่งนั้น. ยัญญ์นั้น สำเร็จไปแล้วด้วยเนยใสน้ำมัน เนยข้น นมส้ม น้ำผึ้ง น้ำอ้อย. ...ฯลฯ...

พราหมณ์! เรารู้ชัดเจนอยู่ ซึ่งหมู่ชนเหล่านั้น ๆ ผู้บูชายัญญ์อย่างนี้แล้ว ภายหลังแต่การตายเพราะกายแตก ย่อมบังเกิด ณ สุคติโลกสวรรค์.พราหมณ์! ในสมัยนั้น เราเป็นพราหมณ์ผู้ปุโรหิต ผู้สั่งงานบูชายัญญ์ของพระเจ้ามหาวิชิตราช นั้น.

- บาลี กูฎทันตสูตร สี. ที. 9/171/205. ตรัสแก่กูฎทันตพราหมณ์ ที่ราชอุทยานอัมพลัฎฐิกา บ้านขานุมัตร แว้นมคธ.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง