[Font : 15 ]
| |
นรก

1. พยัญชนะ : นรกโดยพยัญชนะ : คือ ไร้ความเจริญ, ไร้หนทางแห่งความเจริญ.

2. อรรถะ : นรกโดยอรรถะ : คือ ภาวะยอดสุดแห่งสิ่งไม่พึงปรารถนา (มิใช่เมือง, มิใช่โลกอย่างที่พูดกันตามภาษาชาวบ้าน).

3. ไวพจน์ : นรกโดยไวพจน์ : คือ นิริย, อบายภูมิ, ทุคติ, วินิปาต.

4. องค์ประกอบ : นรกโดยองค์ประกอบ : มี 4 :

1. ผลบาป.

2. การเสวยผลบาป (ถูกลงโทษ).

3. ความทุกข์.

4. ความสูญเสียอิสรภาพ.

5. ลักษณะ : นรกโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 ไม่น่าปรารถนา น่าเกลียด น่ากลัว เผาลนทนทรมาน.

5.2 แห่งการถูกลงโทษหรือเสวยผลบาป.

5.3 แห่งความต่ำสุดของโลก ของภพ ของภูมิ.

5.4 แห่งการสูญเสียอิสรภาพ.

6. อาการ : นรกโดยอาการ : มีอาการ :

6.1 แห่งการหยุดเจริญ.

6.2 แห่งการตกต่ำ.

6.3 แห่งการเผาลน ทนทรมานแก่ผู้มี ผู้เป็น.

6.4 แห่งการเกิด - ดับ เช่นเดียวกับสังขตธรรม หรือสังขารธรรมอื่นๆ.

6.5 แห่งการสูญเสียอิสรภาพ คือ การหมดความเป็นตัวของตัวเอง.

7. ประเภท : นรกโดยประเภท : แบ่งเป็นสอง :

นัยที่ 1 : นรกที่กล่าวตามสนันตนธรรม (คำกล่าวของเก่าโบราณก่อนพุทธกาลนานไกล) จำแนกตามชนิดของการลงโทษ มีรูปแบบสมตามรูปแบบของบาปที่กระทำ มีหลายสิบชนิด.

นัยที่ 2: นรกที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อย่างเป็นสันทิฏฐิโก อกาลิโก เห็นได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือผลแห่งการกระทำที่ผิดหลักปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์ : ปรากฏอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในความรู้สึกของผู้กระทำนั่นเอง ; ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว.

(นรกแห่งศาสนาอื่นๆ ก็มีอยู่ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์แห่งศาสนานั้นๆ).

8. กฏเกณฑ์ : นรกโดยกฏเกณฑ์ :

8.1 ต้องไม่ถือว่านรกจะมีต่อเมื่อตายแล้ว แต่ต้องถือว่ามีเมื่อกระทำผิดต่อธรรมะ ได้รับผลที่นี่และเดี๋ยวนี้ อย่างเป็นสันทิฏฐิโก อกาลิโก เช่นเดียวกับธรรมะอื่นๆ (ดังที่กล่าวแล้วว่ามีอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ).

8.2 การตกนรกมิได้เป็นสิ่งนิรันดร แต่เปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุตามปัจจัย : อย่างที่กล่าวได้ว่า สลับกันไปกับการขึ้นจากนรกไปสู่สวรรค์ เพราะนรกก็เป็นเพียงสังขารธรรม หรือสังขตธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น.

8.3 การตกนรกเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจจะตกนรกอยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัวก็ได้.

9. สัจจะ : นรกโดยสัจจะ :

9.1 โอกาสที่จะตกนรกมีได้มากมายอย่างนับไม่ถ้วน แม้ในเพียงวันเดียว : คือ โอกาสที่ทำผิดต่อกฎปฏิจจสมุปบาททางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.

9.2 ประตูนรกปิดเสียได้ด้วยการควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, ไม่ให้กระทำผิดต่อกฎปฏิจจสมุปบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะแห่งผัสสะ.

9.3 อย่างไรก็ดี ; ควรจะถือว่า นรกเป็นบทเรียนสำหรับการกลับตัวจากความชั่ว.

10. หน้าที่ : นรกโดยหน้าที่ (โดยสมมติ) :นรกเปรียบเสมือนสถาบันอันหนึ่งซึ่งมียมบาลเป็นผู้จัดการ: มีหน้าที่ลงโทษผู้กระทำความผิดให้สาสมกับความผิดบาป.

11. อุปมา : นรกโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 กิจการราชทัณฑ์หรือคุกตาราง ที่มียมบาล หรือกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท หรือกฎแห่งกรรมเป็นผู้อำนวยการ ให้เป็นไปอย่างยุติธรรม ซึ่งไม่มีโอกาสหนีหรือแหกคุก.

11.2 โรงเรียนดัดสันดานที่มีโอกาสกลับออกมาเป็นมนุษย์ที่ดี หรือไปสวรรค์ก็ได้.

12. สมุทัย : นรกโดยสมุทัย : คือ : ความประมาทและผลบาปที่เกิดจากความประมาท เป็นสมุทัยทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่านรก ทั้งในความหมายที่ว่าเป็นสถาบันหรือเป็นสัตว์นรก.

13. อัตถังคมะ : นรกโดยอัตถังคมะ :

นัยที่ 1 : นรกในฐานะสถาบัน : คือไม่มีคนทำผิดอีกต่อไป จนไม่มีใครไปตกนรก.

นัยที่ 2 : นรกในฐานะสัตว์นรก : คือความสิ้นกรรมแห่งสัตว์นรก.

14. อัสสาทะ : นรกโดยอัสสาทะ : ไม่มี.

15. อาทีนวะ : นรกโดยอาทีนวะ : มีเฉพาะผู้ทำผิดและได้รับโทษในนรก.

16. นิสสรณะ : นรกโดยนิสสรณะ : การหลีกจากหนทางที่นำเข้าไปสู่นรก คือ กุศลกรรมบถ 10 หรืออริยอัฏฐังคิกมรรค.

17. ทางปฏิบัติ : นรกโดยทางปฏิบัติ :

นัยที่ 1 : เพื่อเข้าไปสู่นรก : คือ อกุศลกรรมบถ 10A31.

นัยที่ 2 : เพื่อออกมาเสียจากนรก : คือ กุศลกรรมบถ 10 หรืออริยมรรคมีองค์ 8.

18. อานิสงส์ : นรกโดยอานิสงส์ :

18.1 มีไว้สำหรับทำให้คนกลัวบาปกลัวบุญ.

18.2 เป็นโรงเรียนดัดสันดานสัตว์อันธพาล.

19. หนทางถลำ : นรกโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่นรก :

19.1 การดูหมิ่นบาปว่าเป็นของเล็กน้อย.

19.2 การเป็นอยู่อย่างสะเพร่าหรือประมาท.

19.3 การสมาคมคบหากับอันธพาล.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : นรกโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

นัยที่ 1 : สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องในการมีนรก : คือ ความไม่สนใจ, ความไม่มีศรัทธา, ความไม่มีความใคร่ในธรรม.

นัยที่ 2 : สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องเพื่อการไม่มีนรก : คือ ความสนใจ, ความศรัทธา, และความใคร่ในธรรม.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : นรกโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : เมืองนรกที่ถือกันว่าอยู่ใต้บาดาล.

ภาษาธรรม : ภาวะแห่งจิตที่ปราศจากความเจริญ เต็มไปด้วยความทนทุกข์ทรมาน.

21.2 ภาษาคน : ว่าอยู่ใต้ดิน.

ภาษาธรรม : ว่าอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.

21.3 ภาษาคน : ถึงได้ต่อตายแล้ว.

ภาษาธรรม : ถึงได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ธรรมบรรยายต่อหางสุนัข

2. ปรมัตถสภาวธรรม

3. ฟ้าสางฯ ตอน 1, 2


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง