[Font : 15 ]
| |
สิ่งที่ตรัสรู้ |  

ภิกษุ ท. ! มีสิ่งที่แล่นดิ่งไปสุดโต่งอยู่สองอย่าง ที่บรรพชิตไม่ควรข้อแวะด้วย. สิ่งที่แล่น ดิ่งไปสุดโต่งนั้นคืออะไร? คือ การประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย อันเป็นการกระทำที่ยังต่ำ เป็นของชาวบ้านเป็นของคนชั้นบุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, และการประกอบความเพียรในการทรมานตนให้ลำบาก อันนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, 2 อย่างนี้แล.

ภิกษุ ท. ! ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง ที่ไม่ดิ่งไปหาสิ่งสุดโต่งสองอย่างนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุเป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน.

ภิกษุ ท. ! ข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง ที่ไม่ดิ่งไปหาที่สุดโต่ง 2 อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนั้น คือข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางอันประเสริฐ ประกอบอยู่ด้วยองค์ 8 ประการนี่เอง. แปดประการคืออะไรเล่า? คือความเห็นที่ถูกต้อง ความดำริที่ถูกต้อง การพูดจาที่ถูกต้อง การทำการงานที่ถูกต้อง การอาชีพที่ถูกต้อง ความพากเพียรที่ถูกต้อง ความรำลึกที่ถูกต้อง ความตั้งใจมั่นคงที่ถูกต้อง ภิกษุ ท. ! นี้แล คือข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง ที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ ทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน.

ภิกษุ ท. ! นี้แลคือความจิรงอันประเสริฐ เรื่องความทุกข์03.17 คือความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์03.17 ความตายก็เป็นทุกข์, ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก เป็นทุกข์ ความพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น เป็นทุกข์,กล่าวโดยย่อ ขันธ์ 5 ที่ประกอบด้วยอุปาทาน เป็นทุกข์.

ภิกษุ ท. ! นี้แลคือความจริงอันประเสริฐ เรื่องแดนเกิดของความทุกข์คือตัณหา อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน อันเป็นเครื่องให้เพลิดเพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ, ได้แก่ ตัณหาในกาม ตัณหาในความมีความเป็น ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น.

ภิกษุ ท. ! นี้แลคือความจริงอันประเสริฐ เรื่องความดับไม่เหลือของความทุกข์ คือ ความดับสนิทเพราะจางไปโดยไม่มีเหลือของตัณหานั้นนั่นเอง คือความสลัดทิ้ง ความสละคืน ความปล่อย ความทำไม่ให้มีที่อาศัย ซึ่งตัณหานั้น.

ภิกษุ ท. ! นี้แลคือความจริงอันประเสริฐ เรื่องข้อปฏิบัติอันทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์ คือข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางอันประเสริฐ อันประกอบด้วยองค์แปดประการนี้ ได้แก่ความเห็นที่ถูกต้อง ความดำริที่ถูกต้องการพูดจาที่ถูกต้อง การทำการงานที่ถูกต้อง การอาชีพที่ถูกต้อง ความพากเพียรที่ถูกต้อง ความรำลึกที่ถูกต้อง ความตั้งใจมั่นคงที่ถูกต้อง.

ภิกษุ ท. ! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ววิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นี้คือความจริงอันประเสริฐ คือความทุกข์, เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้,เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์นี้ เราตถาคตกำหนดรู้รอบแล้ว.

ภิกษุ ท. ! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ววิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นี้คือความจริงอันประเสริฐ คือแดนเกิดของทุกข์, เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจิรงอันประเสริฐ คือแดนเกิดของทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรละเสีย, เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือแดนเกิดของความทุกข์นี้เราตถาคตละได้แล้ว.

ภิกษุ ท. ! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ววิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นี้คือความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือของความทุกข์, เกิดขึ้นแก่เรา ว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง, เกิดขึ้นแก่เรา ก็ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้ เราตถาคตได้ทำให้แจ้งแล้ว.

ภิกษุ ท. ! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ววิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นี้คือความจริงอันประเสริฐ คือ ข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์, เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือ ข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดมี, เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐ คือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้ เราตถาคตได้ทำให้เกิดมีแล้ว.

ภิกษุ ท. ! ตลอดกาลเพียงไร ที่ญาณทัศนะเครื่องรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา อันมีปริวัฏฏ์ 3 มีอาการ 12 ในอริยสัจจ์ทั้ง 4 เหล่านี้ยังไม่เป็นญาณทัศนะที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยดี; ตลอดกาลเพียงนั้น เรายังไม่ปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาแลมนุษย์.

ภิกษุ ท. !เมื่อใด ญาณทัศนะเครื่องรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา อันมีปริวัฏฏ์ 3 มีอาการ 12 ในอริยสัจจ์ทั้ง 4 เหล่านี้เป็นญาณทัศนะที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยดี; เมื่อนั้น เราก็ปฏิญญาว่าเป็นผู้ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาแลมนุษย์.

- บาลี มหาวาร. สํ. 19/528/1664. ตรัสแก่ภิกษุทั้ง 5 ทิ่อิสิปตนมฤคทายวัน.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง