[Font : 15 ]
| |
ภาวะแห่งความสิ้นตัวตนและสิ้นโลก |  

"ข้าแต่พระองค์เจริญ ! ข้าพระองค์เป็นคนชรา เป็นคนแก่คนเฒ่ามานาน ผ่านวัยมาตามลำดับ. ขอพระผู้มีพระภาคาทรงแสดงธรรมโดยย่อ ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมโดยย่อ ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะพึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า เถิดพระเจ้าข้า !"

มาลุงกบุตร ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือ รูปทั้งหลายอันรู้สึกกันได้ทางตา เป็นรูปที่ท่านไม่ได้เห็น ไม่เคยเห็น ที่ท่านกำลังเห็นอยู่ก็ไม่มี ที่ท่านคิดว่าท่านควรจะได้เห็นก็ไม่มี ดังนี้แล้ว ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักก็ดี ในรูปเหล่านั้น ย่อมมีแก่ท่านหรือ ? "ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !"

(ต่อไปนี้ ได้มีการตรัสถาม และการทูลตอบ ในทำนองเดียวกันนี้ทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อของสิ่งที่นำมากล่าว คือในกรณีแห่ง เสียงอันรู้สึกกันได้ทางหู ในกรณีแห่ง กลิ่นอันรู้สึกกันได้ทางจมูก ในกรณีแห่ง รสอันรู้สึกกันได้ทางลิ้น ในกรณีแห่ง โผฏฐัพพะอันรู้สึกกันได้ทางผิวกาย และในกรณีแห่ง ธรรมารมณ์อันรู้สึกกันได้ทางมโน).

มาลุงกบุตร ! ในบรรดาสิ่งที่ท่าน พึงเห็น พึงฟัง พึงรู้สึก พึงรู้แจ้ง เหล่านั้น ; ใน สิ่งที่ท่านเห็นแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าเห็น ; ใน สิ่งที่ท่านฟังแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าได้ยิน ; ใน สิ่งทีท่านรู้สึกแล้ว (ทางจมูก, ลิ้น, กาย) จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้สึก ; ใน สิ่งที่ท่านรู้แจ้งแล้ว (ทางวิญญาณ) ก็จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้แจ้ง.

มาลุกยบตุร! เมื่อใดแล ในบรรดาธรรมเหล่านั้น : เมื่อ สิ่งที่เห็นแล้วสักว่าเห็น, สิ่งที่ฟังแล้วสักว่าได้ยิน, สิ่งที่รู้สึกแล้วสักว่ารู้สึก, สิ่งที่รู้แจ้งแล้วสักว่ารู้แจ้ง, ดังนี้แล้ว ; มาลุงกยบุตร ! เมื่อนั้น ตัวท่านย่อมไม่มีเพราะเหตุนั้น;

มาลุงกยบุตร! เมื่อใดตัวท่านไม่มีเพราะเหตุนั้น, เมื่อนั้น ตัวท่านก็ไม่มีในที่นั้น ๆ ;

มาลุงกยบุตร ! เมื่อใดตัวท่านไม่มีในที่นั้น ๆ, เมื่อนั้นตัวท่านก็ไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง : นั่นแหละ คือที่สุดแห่งความทุกข์ ดังนี้.

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดาร ดังต่อไปนี้ :-

เห็นรูปแล้วสติหลงลืม ทำในใจซึ่งรูปนิมิตว่าน่ารัก มีจิตกำหนัดแก่กล้าแล้ว เสวยอารมณ์นั้นอยู่ ความสยบมัวเมาย่อมครอบงำบุคคลนั้น. เวทนาอันเกิดจากรูปเป็นอเนกประการ ย่อมเจริญแก่เขานั้น. อภิชฌาและวิหิงสาย่อมเข้าไปกลุ้มรุมจิตของเขา. เมื่อสะสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ท่านกล่าวว่ายังไกลจากนิพพาน.

(ในกรณีแห่งการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจก็มีข้อความที่กล่าวไว้อย่างเดียวกัน).

บุคคลนั้นไม่กำหนัดในรูป ท. เห็นรูปแล้ว มีสิตเฉพาะ มีจิตไม่กำหนัดเสวยอารมณ์อยู่ ความสยบมัวเมาย่อมไม่ครอบงำบุคคลนั้น. เมื่อเขาเห็นอยู่ซึ่งรูปตามที่เป็นจริง เสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ก็สิ้นไป ๆ ไม่เพิ่มพูนขึ้น เขามีสติประพฤติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้, เมื่อไม่สะสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้ต่อนิพพาน.

(ในกรณีแห่งการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายรู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจก็มีข้อความที่กล่าวไว้อย่างเดียวกัน).

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ พระเจ้าข้า !"

พระผู้มีพระภาค ทรงรับรองความข้อนั้น ว่าเป็นการถูกต้อง. ท่านมาลุงกยบุตรหลีกออกสู่ที่สงัดกระทำความเพียร ได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในศาสนานี้.

- สฬา.สํ. 18/91-95/132-139.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง