[Font : 15 ]
| |
ทรงท้าว่า ธรรมที่ทรงแสดงไม่มีใครค้านได้ |  

(เมื่อได้ตรัสถึงลัทธิที่มีทางค้านได้ 3 ลัทธิ คือ ลัทธิที่ว่าสุขทุกข์เพราะกรรมแต่ปางก่อนอย่างเดียว, ลัทธิที่ว่าสุขทุกข์เพราะผู้เป็นเจ้าเป็นนายบันดาลให้, และลัทธิที่ว่าสุขทุกข์ไม่มีปัจจัยอะไรเลย (ดูที่หน้า 411-414 แห่งหนังสือนี้) แล้วได้ตรัสข้อความต่อไปนี้:-)

ภิกษุ ท.! ธรรมอันเราแสดงแล้วนี้ ไม่มีใครข่มขี่ได้ เป็นธรรมไม่มัวหมอง ไม่มีทางถูกติ ไม่มีทางถูกคัดค้าน จากสมณพราหมณ์ผู้รู้ทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ธรรมนั้นเป็นอย่างไรเล่า? ธรรมนั้นคือธาตุ 6 อย่าง, ผัสสายตนะ 6 อย่าง, มโนปวิจาร 18 อย่าง, และอริยสัจจ์ 4 อย่าง.

ภิกษุ ท.! ที่เรากล่าวว่า ธาตุ 6 อย่าง นั้น เราอาศัยข้อความอะไรกล่าว? เราอาศัยข้อความนี้กล่าว คือ ธาตุเหล่านี้มี 6 คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุเตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ดังนี้.

ภิกษุ ท.! ที่เรากล่าวว่า ผัสสายตนะ (แดนเกิดแห่งการกระทบ) 6 อย่าง นั้น เราอาศัยข้อความอะไรกล่าว? เราอาศัยข้อความนี้กล่าว คือ ผัสสายตนะเหล่านี้มี 6 คือ ตา เป็นผัสสายตนะ หู เป็นผัสสายตนะ จมูก เป็นผัสสายตนะลิ้น เป็นผัสสายตนะ กาย เป็นผัสสายตนะ ใจ เป็นผัสสายตนะ ดังนี้

ภิกษุ ท.! ที่เรากล่าวว่า มโนปวิจาร (ที่เที่ยวของจิต) 18 อย่าง นั้นเราอาศัยข้อความอะไรกล่าว? เราอาศัยข้อความนี้กล่าว คือ เห็นรูปด้วยตาแล้วใจย่อมเข้าไปเที่ยวในรูปอันเป็นที่เกิดแห่งโสมนัส 1 ในรูปอันเป็นที่เกิดแห่งโทมนัส 1 ในรูปอันเป็นที่เกิดแห่งอุเบกขา 1; ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ใจnย่อมเข้าไปเที่ยวในเสียงอันเป็นที่เกิดแห่งโสมนัส 1; ในเสียงอันเป็นที่เกิดแห่งโทมนัส 1 ในเสียงอันเป็นที่เกิดแห่งอุเบกขา 1; ได้กลิ่นด้วยจมูกแล้ว ใจย่อมเข้าไปเที่ยวในกลิ่นอันเป็นที่เกิดแห่งโสมนัส 1 ในกลิ่นอันเป็นที่เกิดแห่งโทมนัส 1 ในกลิ่นอันเป็นที่เกิดแห่งอุเบกขา 1; รู้รสด้วยลิ้นแล้ว ใจย่อมเข้าไปเที่ยวในรสอันเป็นที่เกิดแห่งโสมนัส 1 ในรสอันเป็นที่เกิดแห่งโทมนัส 1 ในรสอันเป็นที่เกิดแห่งอุเบกขา 1; สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยผิวกายแล้ว ใจย่อมเข้าไปเที่ยวในโผฎฐัพพะอันเป็นที่เกิดแห่งโสมนัส 1 ในโผฏฐัพพะอันเป็นที่เกิดแห่งโทมนัส 1 ในโผฏฐัพพะอันเป็นที่เกิดแห่งอุเบกขา 1; รู้สึกอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจแล้ว ใจย่อมเข้าไปเที่ยวในอารมณ์อันเป็นที่เกิดแห่งโสมนัส 1 ในอารมณ์อันเป็นที่เกิดแห่งโทมนัส 1 ในอารมณ์อันเป็นที่เกิดแห่งอุเบกขา 1; ดังนี้.

ภิกษุ ท.! ที่เรากล่าวว่า อริยสัจจ์ 4 อย่างนั้น เราอาศัยข้อความอะไรกล่าว? เราอาศัยข้อความนี้กล่าว คือ เมื่อได้อาศัยธาตุทั้ง 6 แล้ว การก้าวลงสู่ครรภ์ก็ย่อมมี. เมื่อการก้าวลงสู่ครรภ์มีอยู่ (สิ่งที่เรียกว่า) นามรูป ก็ย่อมมี.เพราะนามรูปเป็นปัจจัย อายตนะ 6 ก็ย่อมมี. เพราะอายตนะ 6 เป็นปัจจัยฟัสสะก็ย่อมมี. เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา ก็ย่อมมี. ภิกษุ ท.! เราบัญญัติทุกข์ บัญญัติเหตุให้เกิดทุกข์ บัญญัติความดับสนิทของทุกข์ และบัญญัติทางปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทของทุกข์ ไว้สำหรับสัตว์ผู้ยังมีเวทนาอยู่, ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.

ภิกษุ ท.! อริยสัจจ์ว่าด้วยความทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความชราเป็นทุกข์, ความตายเป็นทุกข์, โสกปริเทวะ ทุกข์กายทุกข์ใจ และความแห้งใจเป็นทุกข์, ประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์, พลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์, ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์; โดยย่อแล้วขันธ์ 5 ที่ยังมีความยึดถือเป็นทุกข์. ภิกษุ ท.! นี้แลอริยสัจจ์ว่าด้วยความทุกข์.

ภิกษุ ท.! อริยสัจจ์ว่าด้วยเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? คือเพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ท.; เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ;เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป; เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีอายตนะ ุ6; เพราะมีอายตนะ 6 เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา; เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ; เพราะมีภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีภพ; เพราะมีภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ โสกปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสอุปายาสขึ้นครบถ้วน : กองทุกข์ทั้งสิ้นย่อมเกิดมีขึ้นได้ด้วยอาการอย่างนี้. ภิกษุ ท.! นี้แลอริยสัจจ์ว่าด้วยเหตุให้เกิดทุกข์.

ภิกษุ ท.! อริยสัจจ์ว่าด้วยความดับสนิทของความทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? คือ เพราะอวิชชานั่นเอง จางดับไปไม่มีเหลือ จึงมีความดับแห่งสังขาร; เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ; เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป; เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งอายตนะ 6; เพราะมีความดับแห่งอายตนะหก จึงมีความดับแห่งผัสสะ; เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา; เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา; เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ; เพราะมีความดับแห่งชาติ, ชรามรณะ โสกปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส จึงดับสนิทไป : กองทุกข์ทั้งสิ้นย่อมดับไปด้วยอาการอย่างนี้. ภิกษุ ท.! นี้แลอริยสัจจ์ว่าด้วยความดับสนิทของความทุกข์.

ภิกษุ ท.! อริยสัจจ์ว่าด้วยข้อปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทของความทุกข์ เป็นอย่าไร? คือหนทางอันประเสริฐ อันประกอบด้วยองค์ 8 นี้เอง, ได้แก่ความเห็นถูกต้อง ความดำริถูกต้อง ความมีวาจาถูกต้อง ความมีการกระทำทางกายถูกต้อง ความมีอาชีวะถูกต้อง ความมีความพยายามถูกต้อง ความมีการระลึกประจำใจถูกต้อง และความมีการตั้งใจมั่นอย่างถูกต้อง. ภิกษุ ท.! นี้แลอริยสัจจ์อันว่าด้วยข้อปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทของความทุกข์.

ภิกษุ ท.! ข้อใดที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดงแล้วไม่มีใครข่มขี่ได้เป็นธรรมไม่มัวหมองไม่มีทางถูกตำหนิถูกคัดค้าน จากสมณพราหมณ์ผู้รู้ทั้งหลายดังนี้นั้น ข้อความนั้นเราอาศัยข้อความเหล่านี้แล กล่าวแล้ว.

- บาลี มหาวรรค ติก. อํ. 20/225/501. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง