[Font : 15 ]
| |
การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอารักขาทั้งตนเองและผู้อื่น |  

ภิกษุ ท. ! เรื่องเคยมีมาแล้วในกาลก่อน : บุรุษจัณฑาลวังสิกะ20.17 ยกไม้จัณฑาลวังสะตั้งขึ้นแล้ว ร้องสั่งผู้ช่วยซึ่งทำหน้าที่ถือถาดน้ำมันของเขา ด้วยคำว่า “เพื่อนถาดน้ำมัน ! จงมา, จงขึ้นไปสู่ไม้จัณฑาลวังสะ แล้วทรงตัวอยู่ในเบื้องบนแห่งลำตัวของเรา” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! บุรุษเมทกถาลิกะผู้ช่วยของเขารับคำว่า “ขอรับอาจารย์” แล้วขึ้นไปสู่ไม้จัณฑาลวังสะ ดำรงตัวอยู่เบื้องบนแห่งลำตัวของอาจารย์.

ภิกษุ ท. ! ลำดับนั้น จัณฑาลวังสิกบุรุษผู้เป็นอาจารย์ ได้กล่าวแก่เมทกถาลิกบุรุษซึ่งเป็นผู้ช่วยของเขาว่า “สหายเมทกถาลิกะเอ๋ย ! ท่านจงรักษาซึ่งเรา เราก็จักรักษาซึ่งท่าน ; เราคุ้มครองรักษาซึ่งกันและกันอยู่อย่างนี้ จักได้แสดงซึ่งศิลปะด้วย จักได้ลาภด้วย และจักลงจากไม้จัณฑาลวังสะได้โดยสวัสดีด้วย.”

ภิกษุ ท. ! เมทกถาลิกบุรุษซึ่งเป็นผู้ช่วยได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวกะจัณฑาลวังสิกบุรุษผู้เป็นหัวหน้าของเขาว่า “ทำอย่างนั้นไม่ได้ดอก ท่านอาจารย์ ! ท่านอาจารย์จงรักษาตัวเอง ผมก็จักรักษาตัวผม ; เมื่อเราต่างฝ่ายต่างคุ้มครองรักษาตนของตนอยู่อย่างนี้ จึงจักแสดงศิลปะได้ด้วย จักได้ลาภด้วย จักลงจากไม้จัณฑาลวังสะได้โดยสวัสดีด้วย.”

นี่คือ เคล็ดอันเป็นใจความสำคัญของเรื่องที่เราจักต้องเข้าใจ. คือพระผู้มีพระภาคได้กล่าวเช่นเดียวกับที่เมทกถาลิกบุรุษซึ่งเป็นผู้ช่วยได้กล่าวกะอาจารย์ของเขา ; คือได้ตรัสว่า :-

ภิกษุ ท. ! เธอพึงเจริญสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘เราจักรักษาซึ่งตน’ ; เธอพึงเจริญสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘เราจักรักษาซึ่งผู้อื่น’. ภิกษุ ท. ! เมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น : เมื่อรักษาผู้อื่นก็คือรักษาตน20.17.

ภิกษุ ท. ! เมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ข้อนี้หมายความว่า รักษาตนด้วยการเสพธรรมะ ด้วยการเจริญธรรมะ ด้วยการทำให้มากซึ่งธรรมะ. นี่แหละคือ เมื่อรักษาตนอยู่ จะมีผลเป็นการรักษาผู้อื่น.

ภิกษุ ท. ! เมื่อรักษาผู้อื่นก็คือรักษาตน นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ข้อนี้หมายความว่า รักษาผู้อื่นด้วยการอดทน ด้วยการไม่เบียดเบียน ด้วยเมตตาจิต ด้วยความรักใคร่เอ็นดู. นี้แหละคือ เมื่อรักษาผู้อื่นอยู่ จะมีผลเป็นการรักษาตนด้วย.

ภิกษุ ท. ! เมื่อคิดว่าเราจักรักษาตน ก็จงเจริญสติปัฏฐานเถิด, เมื่อคิดว่าเราจักรักษาผู้อื่น ก็จงเจริญสติปัฏฐานเถิด ; เพราะว่าเมื่อเจริญสติปัฏฐานเพื่อรักษาตน ก็เป็นการรักษาผู้อื่น : เมื่อเจริญสติปัฏฐานเพื่อรักษาผู้อื่นก็เป็นการรักษาตนด้วย ; อย่างนี้แล. (ข้อนี้หมายความว่า การทำให้เกิดสติปัฏฐานชื่อว่ารักษาตน. ในสติปัฏฐานนั้นมีการระลึกด้วยพรหมวิหาร จึงถือว่ามีการรักษาผู้อื่นด้วย.)

- มหาวาร. สํ. 19/224 - 225/758-762.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง