[Font : 15 ]
| |
1. กลุ่มสัมมาทิฏฐิ |  

ภิกษุ ท.! ในบรรดาองค์เจ็ดแห่งอริยสัมมาสมาธินั้น สัมมาทิฏฐิเป็นธรรมนำหน้า. นำหน้าอย่างไรเล่า? คือเขารู้มิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ; ความรู้ของเขานั้น เป็น สัมมาทิฏฐิ.

ภิกษุ ท.! มิจฉาทิฏฐิ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? นั้นคือทิฏฐิที่เห็นว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี(ผล) ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี(ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี(ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี, มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี, โอปปาติกะสัตว์ ไม่มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มีอยู่” ดังนี้. ภิกษุ ท.! นี้คือ มิจฉาทิฏฐิ.

ภิกษุ ท.! สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! เรากล่าว แม้สัมมาทิฏฐิว่ามีอยู่ 2 ชนิด คือสัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นไปด้วยอาสวะ (สาสว) เป็นส่วนแห่งบุญ (ปุญฺญภาคิย) มีผลเนื่องอยู่กับของหนัก (อุปธิเวปกฺก) ก็มีอยู่; สัมมาทิฏฐิ อันเป็นอริยะ (อริย) ไม่เป็นไปด้วยอาสวะ (อนาสว) นำขึ้นสู่ระดับเหนือโลก (โลกุตฺตร) เป็นองค์ประกอบแห่งหนทางเพื่อนิพพาน (มคฺคงฺค) ก็มีอยู่.

ภิกษุ ท.! สัมมาทิฏฐิ ที่ยังเป็นไปด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญมีผลเนื่องอยู่กับของหนัก นั้นเป็นอย่างไรเล่า? นั้นคือสัมมาทิฏฐิที่ว่า “ทานที่ให้แล้ว มี(ผล), ยัญที่บูชาแล้ว มี(ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว มี(ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ที่ทำดีทำชั่ว มี, โลกนี้ มี, โลกอื่น มี, มารดา มี, บิดา มี, โอปปาติกะสัตว์ มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็มีอยู่” ดังนี้. ภิกษุ ท.! นี้คือ สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นไปด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มีผลเนื่องอยู่ของหนัก.

ภิกษุ ท.! สัมมาทิฏฐิ อันเป็นอริยะ ไม่เป็นไปด้วยอาสวะ นำขึ้นสู่ระดับเหนือโลก เป็นองค์ประกอบแห่งหนทางเพื่อนิพพาน นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? นั้นคือสัมมาทิฏฐิได้แก่ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์แห่งมรรค ของผู้มีอริยจิต ของผู้มีอนาสวจิต ของผู้เป็นอริยมัคคสมังคี ผู้เจริญอยู่ซึ่งอริยมรรค ใดแล; ภิกษุ ท.! นี้คือ สัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ไม่เป็นไปด้วยอาสวะ นำขึ้นสู้ระดับเหนือโลก เป็นองค์ประกอบแห่งหนทางเพื่อนิพพาน.

เขานั้น เพียรพยายามเพื่อละเสียซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ทำสัมมาทิฏฐิให้ถึงพร้อม; การกระทำของเขานั้นเป็น สัมมาวายามะ. เขามีสติละเสียซึ่งมิจฉาทิฏฐิ มีสติทำสัมมาทิฏฐิให้ถึงพร้อม แล้วแลอยู่; สติของเข้านั้นเป็น สัมมาสติ.

ด้วยอาการอย่างนี้ เป็นอันว่า ธรรม 3 อย่างนั้น ย่อมติดตามแวดล้อมซึ่งสัมมาทิฏฐิ21.1; 3 อย่างนั้นได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง