[Font : 15 ]
| |
วิญญาณ

1. พยัญชนะ : วิญญาณโดยพยัญชนะ : คือ รู้แจ้ง รู้อย่างวิเศษ รู้ต่างๆ และสิ่งที่ต้องรู้แจ้ง (หมายถึงนิพพาน).

2. อรรถะ : วิญญาณโดยอรรถะ : มีหลายความหมาย :

2.1 วิญญาณในฐานะที่เป็นวิญญาณธาตุ : เป็นสิ่งที่ควรพัฒนาให้ยิ่งขึ้นไป จนถึงกับสามารถสัมผัสอายตนะสูงสุด คือนิพพาน.

2.2 วิญญาณธาตุเป็นธาตุตามธรรมชาติ: สามารถปรุงหรือพัฒนาเป็นวิญญาณทางอายตนะได้.

2.3 วิญญาณ (ที่ถือกันว่าจุติ ปฏิสนธิได้นั้น) ; เป็นของลัทธิอื่นซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา.

2.4 วิญญาณหกตามอายตนะเป็นวิญญาณในพุทธศาสนา.

2.5 วิญญาณในความหมายพิเศษลึกซึ้งที่ต้องรู้แจ้ง หมายถึงนิพพาน.

3. ไวพจน์ : วิญญาณโดยไวพจน์ : คือ จิต, มโน.

4. องค์ประกอบ : วิญญาณโดยองค์ประกอบ : คือ อายตนะภายในกับอายตนะภายนอก หรือระบบประสาท และระบบสังขาร, ที่มีการปรุงแต่ง สิ่งเหล่านี้ จนทําให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณ.

5. ลักษณะ : วิญญาณโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 เกิด, ดับ, แปรปรวนไปตามธรรมดาของสิ่งที่เรียกว่าสังขตธรรม.

5.2 หลอกลวงให้หลงเข้าใจไปว่าเป็นตัวตน ; ทั้งที่มันเป็นธาตุตามธรรมชาติและมิใช่ตัวตน.

6. อาการ : วิญญาณโดยอาการ : คือ มีอาการของเจ้าหน้าที่ที่ประจําอยู่ที่อายตนะ ภายในทั้ง 6.

7. ประเภท : วิญญาณโดยประเภท : กล่าวได้ว่ามีหลักใหญ่ๆ เป็น 2 ชนิด :

7.1 วิญญาณที่ยังเป็นธาตุตามธรรมชาติ.

7.2 วิญญาณที่ปรุงขึ้นมาโดยสังขาร สําหรับทําความรู้สึกทางอายตนะ ; และมีชื่อตามอายตนะนั้นๆ.

7.3 โดยปลีกย่อย : แบ่งประเภทของวิญญาณไปตามชื่อของอายตนะ 6 ; เช่น วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก เป็นต้น.

8. กฏเกณฑ์ : วิญญาณโดยกฏเกณฑ์ :

8.1 เมื่อใดมีการปรุงแต่งของสังขาร เมื่อนั้นจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ ; เมื่อใดมีวิญญาณ เมื่อนั้นจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า นามรูป. นี้เป็นกฎเกณฑ์ตามหลักปฏิจจสมุปบาท.

8.2 วิญญาณเป็นสิ่งที่ต้องตั้งอาศัยอยู่ที่ระบบอายตนะ หรือระบบประสาท เมื่อเรียกด้วยภาษาชาวบ้านธรรมดา ; ปราศจากสิ่งที่เรียกว่าอายตนะเสียแล้ว; วิญญาณก็ไม่มีทางที่จะปรากฏ.

9. สัจจะ : วิญญาณโดยสัจจะ :

9.1 ถ้าไม่มีการปรากฏของวิญญาณ ย่อมหมายความว่า ; อายตนะไม่ได้ทําหน้าที่ หรือทําหน้าที่ไม่ได้.

9.2 เมื่อเหตุปัจจัยหรือส่วนประกอบของวิญญาณเป็นของไม่เที่ยงแล้ว; วิญญาณจะเป็นของเที่ยงได้อย่างไร.

9.3 วิญญาณแม้เป็นเพียงขันธ์หนึ่งในขันธ์ทั้ง 5 ; แต่ก็ทําหน้าที่หลายครั้งหลายหนมากกว่าขันธ์ใดๆ ในการเกิดขึ้น จนกว่าจะครบแห่งขันธ์ทั้ง 5.

10. หน้าที่ : วิญญาณโดยหน้าที่ :

10.1 เป็นปัจจัยอันสําคัญที่ทําให้มีสิ่งที่เรียกว่านามรูป.

10.2 มีหน้าที่รู้แจ้งต่ออารมณ์ 6.

10.3 มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับอารมณ์, รู้สึกอารมณ์, เสวยอารมณ์, พิจารณาอารมณ์และทุกอย่างที่เกี่ยวกับอารมณ์ ; จนกว่าจะสําเร็จรูปเป็นเวทนา, สัญญา, สังขาร และกรรมที่เป็นกุศล หรืออกุศล ฯลฯ

11. อุปมา : วิญญาณโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 ลิง : กลับกลอก, ว่องไวไม่อยู่นิ่ง, ซัดเซพเนจรทั่วไปทั้งป่า.

11.2 แมงมุม : ที่ขึงใยไปทุกทิศทุกทางแล้วนอนรอเฝ้าอยู่ที่ตรงกลาง ; จนกว่าจะมีสัตว์มาติดใย ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ; แล้วออกไปจับกินเป็นอาหาร เสร็จแล้วก็กลับมานอนเฝ้าอยู่ที่เดิม.

12. สมุทัย : วิญญาณโดยสมุทัย :

12.1 วิญญาณย่อมมีเมื่อมีการกระทบกันทางอายตนะ.

12.2 ความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร (ตามหลักปฏิจจสมุปบาท).

13. อัตถังคมะ: วิญญาณโดยอัตถังคมะ :

13.1 ความดับตามคราวเพราะขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรมหรือสังขตธรรมทั้งหลาย.

13.2 เมื่อไม่มีการปรุง คือไม่มีการกระทบทางอายตนะ.

13.3 เมื่อวิญญาณเป็นเหตุให้เกิดนามรูปแล้ว เมื่อนามรูปดับ วิญญาณก็พลอยดับ.

13.4 เมื่อกล่าวเฉพาะกรณี : สามารถทําให้วิญญาณที่เกิดขึ้นแล้วระงับไป หรือไม่ทําหน้าที่ต่อไป ; ด้วยอํานาจของสติที่ประกอบอยู่ด้วยวิชชาอันสูงสุด.

14. อัสสาทะ : วิญญาณโดยอัสสาทะ :

14.1 อัสสาทะของวิญญาณยังไม่มี จนกว่าจะปรุงให้เป็นผัสสะและเวทนา.

14.2 สุขโสมนัสใดๆ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยวิญญาณใดเป็นเหตุ ; สุขโสมนัสนั้นเป็นอัสสาทะของวิญญาณนั้น.

15. อาทีนวะ : วิญญาณโดยอาทีนวะ :

15.1 ยังไม่มี : จนกว่าจะถูกปรุงไปตามลําดับ ให้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าเป็นตัวตน.

15.2 โดยทั่วไปพอจะมองเห็นได้ว่า : วิญญาณนั่นแหละเป็นจุดตั้งต้นของปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์.

15.3 วิญญาณเป็นขันธ์ๆ หนึ่งที่ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา เช่นเดียวกับขันธ์ทั้งหลาย.

16. นิสสรณะ : วิญญาณโดยนิสสรณะ :

16.1 ไม่ต้องมีสําหรับวิญญาณทางพุทธศาสนา : แต่จะมีในลัทธิอื่นที่ถือว่าวิญญาณเป็นตัวตน.

16.2 ในทางพุทธศาสนา : วิญญาณมีหน้าที่ที่จะต้องออกมาจากอิทธิพลของการปรุงแต่งของวิญญาณ.

16.3 การนําออกเสียได้ซึ่งฉันทราคะ หรือความยึดมั่นถือมั่นในวิญญาณนั้น ; นั่นคือนิสสรณะ.

17. ทางปฏิบัติ : วิญญาณโดยทางปฏิบัติ : เพื่อพ้นจากโทษทั้งปวงอันเกี่ยวกับวิญญาณ :

17.1 การเป็นอยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์ 8.

17.2 ความมีสติในทุกกาละเทศะ หรือทุกกรณี.

18. อานิสงส์ : วิญญาณโดยอานิสงส์ : คือ เมื่อมีการปฏิบัติถูกต้องเกี่ยวกับวิญญาณย่อมมีอานิสงส์ให้ถึความสิ้นสุดแห่งความทุกข์.

19. หนทางถลํา : วิญญาณโดยหนทางถลํา : เข้าไปสู่การกระทําที่ผิดพลาดอันเกี่ยวกับวิญญาณ :

19.1 ความไม่รู้เท่าทันต่อพฤติของวิญญาณ จนความทุกข์เกิดขึ้นรอบด้าน.

19.2 มีการเป็นอยู่ด้วยความประมาท สะเพร่า เลินเล่ออยู่เป็นประจํา.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : วิญญาณโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ในการควบคุมวิญญาณให้ปราศจากโทษ :

20.1 ความมีสติและปัญญาอันรวดเร็ว, ถูกต้อง, เพียงพอและเหมาะสมแก่กรณี.

20.2 ความมีสติที่สามารถควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : วิญญาณโดยภาษาคน - ภาษาธรรมะ :

21.1 ภาษาคน : หมายถึงสิ่งที่มีการตายแล้วเกิดใหม่ไม่รู้จักจบ.

ภาษาธรรม : เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางอายตนะเมื่อมีอารมณ์มากระทบ ปราศจากความหมายแห่ง ความเป็นตัวตน.

21.2 ภาษาคน : (อย่างเด็กๆ) เป็นผีชนิดหนึ่ง.

ภาษาธรรม : เป็นธาตุตามธรรมชาติ.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนําให้อ่าน

1. ฟ้าสางๆ ตอน 1

2. โมกขธรรมประยุกต์

3. อริยสัจจากพระโอษฐ์


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง