[Font : 15 ]
| |
ไม่คุ้มค่าข้าวสุก |  

ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัยหมู่บ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีก็ตาม เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว นิมนต์ฉันอาหารในวันรุ่งขึ้น. ภิกษุนั้นมีความหวังในอาหารนี้ก็รับนิมนต์. ครั้นราตรีล่วงไปถึงเวลาเช้า เธอครองจีวร ถือบาตร เข้าไปสู่เรือนคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นิมนต์, ถึงแล้วก็นั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ได้เลี้ยงเธอด้วยของเคี้ยวของฉัน อันประณีต ด้วยตนเอง ให้อิ่มหนำสำราญ จนเธอบอกห้าม. ความคิดได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นในขณะนั้นว่า "วิเศษจริง! คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนี้ เลี้ยงเราด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยตนเอง จนอิ่มหนำสำราญถึงกับเราต้องบอกห้าม" ดังนี้แล้ว, ภิกษุนั้นยังหวังต่อไปอีกว่า "โอหนอ! แม้วันต่อๆ ไป ก็ขอให้คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนี้ เลี้ยงเราด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ฯลฯ อย่างนี้อีกเถิด" ดังนี้. เธอนั้นได้ติดในรสอาหาร หลังในรสอาหาร สยบอยู่ด้วยความยินดีในรสอาหาร, ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ ฉันอาหารนั้น. ภิกษุนั้น ย่อมครุ่นคิดอยู่ด้วยความครุ่นคิดในกามบ้าง ครุ่นคิดอยู่ด้วยความครุ่นคิดในทางเคียดแค้นบ้าง ครุ่นคิดอยู่ด้วยความครุ่นคิดในทางทำผู้อื่นให้ลำบาก โดยไม่รู้สึกตัวบ้าง ตรงที่เธอนั่งฉันนั้นเอง.

ภิกษุ ท.! เรากล่าวว่า "ทาน ที่ถวายแก่ภิกษุผู้เช่นนี้ หามีผลมากไม่" เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า ภิกษุนี้ เป็นผู้มัวเมา แล.

- บาลี พระพุทธภาษิต ติก. อํ. 20/353/563, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่พลิหรณะไพรสณฑ์, เมืองกุสินารา.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง