[Font : 15 ]
| |
อริยมรรค

1. พยัญชนะ : อริยมรรคโดยพยัญชนะ : คือ หนทางอันประเสริฐ.

2. อรรถะ : อริยมรรคโดยอรรถะ : คือ การปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ หรือออกไปจากทุกข์ เรียกว่า ประเสริฐหรืออริยะA104 แปลว่า ออกไปเสียจากข้าศึก. เรียกกันสั้นๆ ว่า หนทางของพระอริยเจ้า.

3. ไวพจน์ : อริยมรรคโดยไวพจน์ : คือ มัชฌิมาปฏิปทา, พรหมจรรย์, โพธิปักขิยธรรม, สัมมัตตะ, ไตรสิกขา

ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : อริยมรรคโดยองค์ประกอบ :

นัยที่ 1 : โดยสมบูรณ์ : ประกอบด้วยองค์ 8 :

สัมมาทิฏฐิ : ความเห็นถูกต้อง.

สัมมาสังกัปปะ : ความปรารถนาถูกต้อง.

สัมมาวาจา : การพูดจาถูกต้อง.

สัมมากัมมันตะ : การงานถูกต้อง.

สัมมาอาชีวะ : การดำรงชีวิตถูกต้อง.

สัมมาวายามะ : ความพยายามถูกต้อง.

สัมมาสติ : ความระลึกถูกต้อง.

สัมมาสมาธิ : ความตั้งใจมั่นถูกต้อง.

(คำว่าสัมมา หรือถูกต้องในที่นี้หมายถึง เป็นไปเพื่อนิพพาน; ถ้าเป็นไปเพื่ออย่างอื่นไม่เรียกว่า “สัมมา”).

นัยที่ 2 : โดยสังเขป : แบ่งเป็นสอง :

อย่างที่ 1 : มีสาม : คือ ศีล, สมาธิ, ปัญญา.

อย่างที่ 2 : มีสอง : คือ สมถะ และวิปัสสนา (รวมคำว่า ศีล เข้าไว้ในคำว่า สมถะ).

5. ลักษณะ : อริยมรรคโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 แห่งความเป็นหนทางที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทาง.

5.2 แห่งความถูกต้อง ทางกาย ทางวาจา ทางจิต และทางสติปัญญา.

5.3 แห่งความเป็นกลาง ไม่หย่อน, ไม่ตึง, ไม่เปียกแฉะ, ไม่ไหม้เกรียม, ไม่มัวเมาในกาม และไม่ทำตนให้ลำบาก.

สรุปในภาษาวิทยาศาสตร์ว่า : ไม่บวก ไม่ลบ; คือไม่มีอาการสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง; ไม่มีคู่ตรงกันข้ามต่อกันและกัน.

5.4 แห่งความเป็นได้ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ. แม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังดำเนินอยู่ในความถูกต้อง อันเป็นองค์แห่งอริยมรรคเหล่านี้.

6. อาการ : อริยมรรคโดยอาการ : มีอาการ :

6.1 เกิดขึ้น, ตั้งอยู่, ดับไปตามธรรมชาติของสิ่งที่เป็นสังขารธรรมหรือสังขตธรรมทั้งปวง.

6.2 แห่งสังขตธรรม คือการปรุงแต่งให้เกิดการถึงซึ่งภาวะแห่งความดับทุกข์ หรือเรียกโดยสมมติว่า ถึงจุดหมายปลายทาง.

6.3 แห่งธัมมสมังคี คือ ทำหน้าที่ร่วมกันทั้งแปดองค์ตามหน้าที่ หรือสัดส่วนที่ควรจะมี.

7. ประเภท : อริยมรรคโดยประเภท : แบ่งเป็นสอง :

7.1 โลกิยอริยมรรค : เป็นการปฏิบัติของผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดๆ และกำลังปฏิบัติอยู่เพื่อบรรลุมรรคผล.

7.2 โลกุตตรอริยมรรค : อริยมรรคของพระอริยเจ้า สำหรับการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลที่สูงขึ้นไป ; หรือเป็นวิหารธรรม เครื่องอยู่ของพระอริยเจ้า ผู้ปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว คือเป็นพระอรหันต์แล้ว.

8. กฎเกณฑ์ : อริยมรรคโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 ต้องมีองค์ 8. แต่ละองค์ๆ มีลักษณะแห่งการเป็นไปเพื่อวิเวก - วิราคะ - นิโรธะ - โวสสัคคะ.

8.2 ต้องรวมกันเป็นทางสายเดียว สำหรับบุคคลเดียว สู่จุดหมายแห่งเดียว คือ นิพพาน.

8.3 ต้องมีปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิเป็นองค์นำหน้าแห่งองค์ทั้งหลาย.

8.4 ต้องเป็นธัมมสมังคีกันทั้งแปดองค์ และมีสัดส่วนตามหน้าที่ของแต่ละองค์.

9. สัจจะ : อริยมรรคโดยสัจจะ :

9.1 เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในโลกก่อนการตรัสรู้และเปิดเผยของพระพุทธเจ้าพระองค์แรก).

9.2 มีความประเสริฐเพราะนำไปสู่ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

9.3 ข้อปฏิบัติใดๆ ก็ตาม ถ้ามีลักษณะเป็นไปเพื่อ วิเวก - วิราคะ - นิโรธะ - โวสสัคคะ ย่อมสงเคราะห์ลงในอริยมรรคทั้งสิ้น.

9.4 ในขณะที่ดำเนินไปตามอริยมรรค ย่อมมีการสอน, การชี้ทางและการเห็นแจ้ง ด้วยตนเองอยู่ทุกขั้นตอน.

9.5 อริยอัฏฐังคิกมรรคเป็นธรรมอันเลิศกว่าธรรมทั้งหลาย ในบรรดาธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ (โพธิปักขิยธรรม).

9.6 มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาแล้ว จะต้องเดินทางนี้อย่างที่จะเว้นเสียมิได้; มิฉะนั้นจะเสียชาติเกิด หรืออะไรอื่นที่ยิ่งไปกว่านี้.

9.7 มรรคมีองค์ 8 จะสมบูรณ์โดยง่าย และโดยอัตโนมัติ ; เมื่อไม่ยึดมั่นในเวทนา.

9.8 ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามหลักของอริยมรรคแล้ว แม้ไม่หวังผล ก็จะถึงจุดหมายปลายทางอยู่ดี.

10. หน้าที่ : อริยมรรคโดยหน้าที่ :

นัยที่ 1 : หน้าที่ (โดยสมมติ) ของอริยมรรค : คือ นำผู้ปฏิบัติให้ถึงซึ่งพระนิพพาน.

นัยที่ 2 : หน้าที่ของมนุษย์ต่ออริยมรรค :

1. ทุกคนต้องเดินตามทางแห่งอริยมรรค ไม่วันนี้ก็วันหน้า.

2. ต้องรับรู้ในมรดกอันสูงสุดที่พระพุทธองค์ทรงมอบหมายไว้.

3. ต้องช่วยกันเผยแผ่สืบต่อไปตามพระพุทธประสงค์.

11. อุปมา : อริยมรรคโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 หนทาง.

11.2 กัลยาณมิตร.

11.3 เพชรพลอยของพระศาสนาในนามว่าธรรมรัตนะ.

11.4 อุปกรณ์การข้ามฟาก.

11.5 คอกล้อมเสือ (กิเลส) ให้อดอาหารตายไปเอง.

ฯลฯ

12. สมุทัย : อริยมรรคโดยสมุทัย :

12.1 การบีบคั้นของความทุกข์ จนเกิดพระพุทธเจ้า.

12.2 ความรู้จักทุกข์ถึงที่สุด แล้วอยากจะดับทุกข์ ทำให้เกิดการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นั้น (เรียกว่า นิพพานกาโม).

12.3 ความเห็นประจักษ์ในไตรลักษณ์ : คือ อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา; ทำให้เกิดการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์.

12.4 ความปรารถนาในทุกขนิโรธ ทำให้เกิดมีทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

13. อัตถังคมะ : อริยมรรคโดยอัตถังคมะ :

13.1 ความดับไปตามคราวเพราะขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรม หรือสังขตธรรมทั้งหลาย.

13.2 เพราะการบรรลุอริยผลตามลําดับ หรือการจบพรหมจรรย์ขั้นสุดท้าย.

13.3 เพราะการประพฤติพรหมจรรย์ล้มเหลวลงไป โดยอุปสรรค หรือ ศัตรูอย่างใดอย่างหนึ่ง ชั่วขณะหรือตลอดกาล.

14. อัสสาทะ : อริยมรรคโดยอัสสาทะ :

14.1 อริยผลเป็นอัสสาทะของอริยมรรค.

14.2 ความเชื่อ, ความเลื่อมใส, ความพอใจในธรรม เป็นอัสสาทะของอริยมรรค.

15. อาทีนวะ : อริยมรรคโดยอาทีนวะ : ไม่มี.

16. นิสสรณะ : อริยมรรคโดยนิสสรณะ : ไม่มีนิสสรณธรรมเป็นเครื่องออกจากอริยมรรค; มีแต่อริยมรรคเป็นนิสสรณธรรม เครื่องออกจากทุกข์ทั้งปวง. ขอเพียงแต่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของอริยมรรคเท่านั้น.

17.ทางปฏิบัติ : อริยมรรคโดยทางปฏิบัติ :

17.1 ปฏิบัติเข้ามาได้จากทุกทิศทุกทางโดยรอบ เข้ามาสู่จุดศูนย์กลาง : คือ อริยภาวะหรือดับทุกข์สิ้นเชิง กล่าวคือ พระนิพพาน.

17.2 มีหลักปฏิบัติไม่เหวี่ยงสุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นความยึดมั่นถือมั่น ; แต่ตั้งอยู่ในสภาวะเป็นกลาง ตามกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาท ; ไม่อาจแยกเป็นคู่ตรงกันข้ามโดยปริยายใดๆ.

17.3 มีหลักปฏิบัติประกอบอยู่ด้วยภาวะแห่งความถูกต้อง (สัมมัตตะ) : คือ ถูกต้องต่อการบรรลุนิพพาน จึงจะเรียกว่า อริยมรรค.

18. อานิสงส์ : อริยมรรคโดยอานิสงส์ :

18.1 ทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์.

18.2 ทำให้มีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงอยู่กับผู้ปฏิบัติตลอดเวลา.

18.3 เป็นทางเดินจากภาวะความเป็นปุถุชน ไปสู่ความเป็นอริยะ.

18.4 เป็นทางออกจากทุกข์ ทุกความหมาย.

19. หนทางถลำ : อริยมรรคโดยหนทางถลำ : เข้าสู่การดำเนินชีวิตตามอริยมรรคมีองค์ 8 :

19.1 การพิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งปวงอยู่เป็นประจำ.

19.2 การคบหาพระอริยเจ้า.

19.3 ความเชื่อว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่ทำให้สิ้นสุดได้.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : อริยมรรคโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : คือ ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 ประการ ที่เรียกว่า โพชฌงค์ 7.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : อริยมรรคโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : ทางเดินด้วยเท้าหรือยานพาหนะ.

ภาษาธรรม : ทางเดินด้วยใจ หรือด้วยสติปัญญา.

21.2 ภาษาคน : ทางเดินอยู่ในโลก.

ภาษาธรรม : ทางเดินออกนอกโลกหรือเหนือโลก.

21.3 ภาษาคน : ทางสำหรับความเจริญทางวัตถุ.

ภาษาธรรม : ทางสำหรับความเจริญทางจิตใจ.

21.4 ภาษาคน : ทางเดินไปหาสิ่งที่กิเลสชอบ.

ภาษาธรรม : ทางเดินไปหาสิ่งที่โพธิปัญญาชอบ.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์

2. พุทธประวัติจากพระโอษฐ์

3. พุทธิกจริยธรรม

4. โมกขธรรมประยุกต์

5. อาสาฬหบูชาเทศนา เล่ม 1


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง