[Font : 15 ]
| |
ศีลอยู่เคียงคู่กับปัญญาเสมอ |  

พราหมณ์! องค์ 2 ประการนี้ จะยกเสียอีกประการหนึ่ง บัญญัติคนผู้ประกอบด้วยองค์เพียงประการเดียว ว่าเป็นพราหมณ์, และคนประกอบด้วยองค์เพียงประการเดียว เมื่อกล่าวว่า ตนเป็นพราหมณ์ ได้ชื่อว่า กล่าวชอบไม่ต้องกล่าวเท็จ, จะได้หรือไม่?

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! องค์สองประการนี้ จะยกเสียอีกประการหนึ่งหาได้ไม่ เพราะว่าศีลย่อมชำระปัญญาให้บริสุทธิ์ และปัญญาเล่าก็ชำระศีลให้บริสุทธิ์เหมือนกัน; ศีลอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั้น; ผู้มีศีลก็มีปัญญา, ผู้มีปัญญาก็มีศีล; บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวถึงศีลและปัญญาว่าเป็นของเลิศในโลก. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! เปรียบเหมือนคนล้างมือด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้า ฉันใด; ศีลย่อมชำระปัญญาให้บริสุทธิ์ และปัญญาเล่าก็ชำระศีลให้บริสุทธิ์เหมือนกัน; ศีลอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั้น; ปัญญาอยู่ที่ใด ศีลอยู่ที่นั้น; ผู้มีศีลก็มีปัญญา, ผู้มีปัญญาก็มีศีล; บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมกล่าวถึงศีลและปัญญา ว่าเป็นของเลิศในโลก ฉันนั้น เหมือนกัน".

พราหมณ์! ข้อนั้น เป็นอย่างนั้นแหละพราหมณ์. ศีลย่อมชำระปัญญาให้บริสุทธิ์ และปัญญาเล่า ก็ชำระศีลให้บริสุทธิ์เหมือนกัน; ศีลอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั้น; ปัญญาอยู่ที่ใด ศีลอยู่ที่นั้น; ผู้มีศีลก็มีปัญญา, ผู้มีปัญญาก็มีศีล; บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมกล่าวถึงศีลและปัญญา ว่าเป็นของเลิศในโลก. พราหมณ์! เปรียบเหมือนคนล้างมือด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้าฉันใด; ศีลย่อมชำระปัญญาให้บริสุทธิ์ และปัญญาเล่าก็ชำระศีลให้บริสุทธิ์เหมือนกัน; ศีลอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั้น; ปัญญาอยู่ที่ใด ศีลอยู่ที่นั้น; ผู้มีศีลก็มีปัญญา, ผู้มีปัญญาก็มีศีล, บัณฑิตทั้งหลายยอ่มกล่าวถึงศีลและปัญญา ว่าเป้นของเลิศในโลก ฉันนั้นเหมือนกัน.

- บาลี พระพุทธภาษิต โสณทัณฑสูตร สี. ที. 9/158/193, ตรัสแก่โสณทัณฑพราหมณ์ ซึ่งทูลถึงเรื่องพวกพราหมณ์บัญญัติคนผู้ประกอบด้วยองค์ 5 ว่าเป็นพราหมณ์โดยชอบ แต่อาจจะยก 3 องค์แรกออกเสียก็ได้ คงไว้แต่เพียง 2 องค์ คือ เป็นผู้มีศีล มีศีลอันเจริญ ประกอบด้วยศีลอันเจริญ และเป็นบัณฑิตมีปัญญา; แต่ถูกพระพุทธองค์ทรงแสร้งท้วงดู ดังที่กล่าวแล้วข้างบน, ก่อนทรงรับรอง.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง