[Font : 15 ]
| |
อาการที่อยู่ในฌาน เรียกว่าตถาคตไสยา |  

ภิกษุ ท.! การนอน 4 อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. 4 อย่าง อย่างไรเล่า ? 4 อย่างคือ เปตไสยา กามโภคิไสยา สีหไสยา ตถาคตไสยา.

ภิกษุ ท.! เปตไสยา (นอนอย่างเปรต) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! โดยมาก พวกเปรต ย่อมนอนหงาย. นี้เรียก เปตไสยา.

ภิกษุ ท.! กามโภคิไสยา (นอนอย่างคนบริโภคกาม) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! โดยมาก คนบริโภคกาม ย่อมนอนตะแคงโดยข้างเบื้องซ้าย. นี้เรียกว่า กามโภคิไสยา.

ภิกษุ ท.! สีหไสยา (นอนอย่างสีหะ) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! สีหะเป็นพญาสัตว์ ย่อมสำเร็จการนอนโดยข้างเบื้องขวา เท้าเหลื่อมเท้าสอดหางไว้ที่ระหว่างขา. สีหะนั้นครั้นตื่นขึ้น ย่อมชะเง้อกายตอนหน้าขึ้น สังเกตกายตอนท้าย ถ้าเห็นความดิ้นเคลื่อนที่ของกาย (ในขณะหลับ) ย่อมมีความเสียใจเพราะข้อนั้น. ถ้าไม่เห็น ย่อมมีความดีใจ. นี้เรียกว่า สีหไสยา.

ภิกษุ ท.! ตถาคตไสยา (นอนอย่างตถาคต) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ ภิกษุ สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึง ฌานที่ 1 ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่. เพราะวิตกวิจารรำงับไป เธอเข้าถึง ฌานที่ 2 อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายในสามารถให้สมาธิผุดขึ้นเป็นธรรมเอก ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่. เพราะปีติจางหายไป เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยนามกาย เข้าถึง ฌานที่ 3 อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติอยู่ เป็นสุข” แล้วแลอยู่. เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เธอเข้าถึง ฌานที่ 4 อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. นี้เรียกว่า ตถาคตไสยา.

ภิกษุ ท.! เหล่านี้ แล การนอน 4 อย่าง.

- จตุกฺก อํ 21/331/246.

(ผู้ศึกษาพึงสังเกตความผิดแผกแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างการนอนทั้งสี่อย่างนี้ ก็จะเข้าใจได้ว่าวิญญาณหรือหัวใจของธรรมะมุ่งหมายอย่างไร สูงกว่าธรรมชาติเพียงใด จนกระทั่งว่า การอยู่ในฌานก็เรียกว่าการนอนอย่างนึงด้วย เป็นการนอนทางวิญญาณ แม้กำลังอยู่ในอิริยาบทอื่นซึ่งมิใช่อิริยาบถนอน ดังที่กล่าวอยู่ในหัวข้อว่า “ที่นั่ง-นอน-ยืน-เดิน ดันเป็นทิพย์” ที่หน้า 1345 แห่งหนังสือเล่มนี้).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง