[Font : 15 ]
| |
ทรงแสดงสาวกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในอินทรียภาวนา |  

ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร! สารีบุตร! อริยสาวกใด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในตถาคตถึงที่สุดโดยส่วนเดียว, เขาย่อมไม่สงสัยหรือลังเลในตถาคตหรือในคำสอนของตถาคต. สารีบุตร! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธาแล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม ท. เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม ท. เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ท. สารีบุตร! ความเพียรเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น อินทรีย์คือวิริยะของเธอนั้น!

สารีบุตร! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่แล้วพึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้มีสติ ประกอบพร้อมด้วยสติเป็นเครื่องระวังรักษาตนเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ระลึกได้ ตามระลึกได้ ซึ่งสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้.สารีบุตร ! ความระลึกเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น อินทรีย์คือสติ ของเธอนั้น.

สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา เป็นผู้ปรารภความเพียรเป็นผู้มีสติเข้าไปตั้งไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้กระทำให้ได้ซึ่งโวสสัคคารมณ์ จักได้ซีงความตั้งมั่นแห่งจิต กล่าวคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว.สารีบุตร! ความตั้งมั่นแห่งจิตเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น อินทรีย์คือสมาธิของเธอนั้น.

สารีบุตร! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา ปรารภความเพียร มีสติเข้าไปตั้งไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบแล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้รู้ชัดอย่างนี้ว่า "สังสารวัฎฎ์ เป็นสิ่งมีที่สุดอันบุคคลรู้ไม่ได้, ที่สุดฝ่ายข้างต้น ย่อมไม่ปรากฎแก่สัตว์ ท.ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก กำลังแล่นไป ท่องเที่ยวไป. ความจางคลายดับไปโดยไม่มีเหลือแห่งอวิชชาอันเป็นกองแห่งความมืดนั้นเสียได้ มีอยู่; นั่นเป็นบทที่สงบ นั่นเป็นบทที่ประณีต, กล่าวคือ เป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน." สารีบุตร! ความรู้ชัดเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น อินทรีย์คือปัญญา ของเธอนั้น.

สารีบุตร! อริยสาวกนั้นนั่นแหละ ตั้งไว้แล้วตั้งไว้แล้ว (ซึ่งวิริยะ) ด้วยอาการอย่างนี้ ระลึกแล้วระลึกแล้ว (ด้วยสติ) ด้วยอาการอย่างนี้ ตั้งมั่นแล้วตั้งมั่นแล้ว (ด้วยสมาธิ) ด้วยอาการอย่างนี้ รู้ชัดแล้วรู้ชัด (ด้วยปัญญา) ด้วยอาการอย่างนี้ เขาย่อมเชื่ออย่างนิ่ง อย่างนี้ ว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นธรรมที่เราเคยฟังแล้วในกาลก่อนในบัดนี้ เราถูกต้องด้วยนามกายแล้วแลอยู่ ด้วย แทงตลอดด้วยปัญญาแล้วเห็นอยู่ด้วย" ดังนี้.

สารีบุตร! ความเชื่อเช่นนั้น ของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น อินทรีย์คือสัทธา ของเธอนั้น, ดังนี้แล.

- บาลี มหาวาร. สํ. 19299/1017. ตรัสแก่พระสารีบุตร ที่อาปณนิคม แคว้นอังคะ.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง