[Font : 15 ]
| |
วิภาคแห่งปฏิจจสมุปบาท |  

ภิกษุ ท.! ปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างไรเล่า?

ภิกษุ ท.! เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีสังขาร; เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดมีวิญญาณ; เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงเกิดมีนามรูป; เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอายตนะหก; เพราะอายตนะหกเป็นปัจจัย จึงเกิดมีผัสสะ; เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา; เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีตัณหา; เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอุปาทาน; เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดมีภพ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ; เพราะชาติเป็นปัจจัย, ชรา มรณะ โศก ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมีพร้อม.ความก่อขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุ ท.! ชรา มรณะ เป็นอย่างไรเล่า? ชรา คือ ความแก่ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยว ความเสื่อมไปแห่งอายุ ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ; นี้เรียกว่า ชรา.

ภิกษุ ท.! มรณะ เป็นอย่าไรเล่า? มรณะคือ การจุติ ความเคลื่อน การแตกสลาย การหายไป การวายชีพ การตาย การทำกาละ การแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย การทอดทิ้งร่าง การขาดแห่งอินทรีย์คือชีวิต จากสัตวนิกายนั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ; นี้ เรียกว่า มรณะ; ด้วยเหตุนี้แหละ ชรา อันนี้ด้วย มรณะอันนี้ด้วย. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่า ชรามรณะ.

ภิกษุ ท.! ชาติ เป็นอย่างไรเล่า? ชาติคือ การเกิด การกำเนิดการก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด การบังเกิดโดยยิ่ง ความปรากฏของขันธ์ทั้งหลาย การที่สัตว์ได้ซึ่งอายตนะทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่า ชาติ.

ภิกษุ ท .! ภพ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภพมี 3 เหล่านี้ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่า ภพ.

ภิกษุ ท.! อุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! อุปาทานมี 4 อย่างเหล่านี้ คือ กามุปาทาน ทิฏฐปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่า อุปาทาน.

ภิกษุ ท.! ตัณหา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! หมู่แห่งตัณหามี 6 อย่างเหล่านี้ คือตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่น ตัณหาในรสตัณหาในโผฏฐัพพะ และตัณหาในธรรมารมณ์. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่า ตัณหา.

ภิกษุ ท.! เวทนา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! หมู่แห่งเวทนามี 6 อย่าง เหล่านี้ คือ เวทนาเกิดแต่สัมผัสทางตา เวทนาเกิดแต่สัมผัสทางหู เวทนาเกิดแต่สัมผัสทางจมูก เวทนาเกิดแต่สัมผัสทางลิ้น เวทนาเกิดแต่สัมผัสทางกาย และเวทนาเกิดแต่สัมผัสทางใจ. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่า เวทนา.

ภิกษุ ท.! ผัสสะ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! หมู่แห่งผัสสะมี 6 อย่าง เหล่านี้ คือสัมผัสทางตา สัมผัสทางหู สัมผัสทางจมูก สัมผัสทางลิ้นสัมผัสทางกาย และสัมผัสทางใจ. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่า ผัสสะ.

ภิกษุ ท.! อายตนะ 6 เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! หมู่แห่ง อายตนะมี 6 อย่างเหล่านี้คือ อายตนะคือตา อายตนะคือหู อายตนะคือจมูก อายตนะคือลิ้น อายตนะคือกาย และอายตนะคือใจ. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่า อายตนะ 6.

ภิกษุ ท.! นามรูป เป็นอย่างไรเล่า? นามคือ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ และมนสิการ. นี้ เรียกว่า นาม. รูปคือ มหาภูตทั้ง 4 ด้วย และรูปที่อาศัยมหาภูตทั้ง 4 ด้วย. นี้ เรียกว่า รูป. ด้วยเหตุนี้แหละ นามอันนี้ด้วย รูปอันนี้ด้วย. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่า นามรูป.

ภิกษุ ท .! วิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท .! หมู่แห่งวิญญาณมี 6 อย่างเหล่านี้ คือ วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางกาย และวิญญาณทางใจ. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่าวิญญาณ.

ภิกษุ ท.! สังขาร ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! สังขารทั้งหลายเหล่านี้ คือ กายสังขาร วจีสังขาร และจิต ต สังขาร. ภิกษุ ท .! เหล่านี้ เรียกว่า สังขารทั้งหลาย

ภิกษุ ท .! อวิชชา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท .! ความไม่รู้อันใด เป็นความไม่รู้ในทุกข์, เป็นความไม่รู้ในเหตุให้เกิดทุกข์, เป็นความไม่รู้ในความดับไม่เหลือของทุกข์, และเป็นไม่รู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์. ภิกษุ ท.! นี้ เรียกว่า อวิชชา.

ภิกษุ ท .! ด้วยเหตุนี้แหละ, เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีสังขาร; เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดมีวิญญาณ ; เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงเกิดมีนามรูป ; เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอายตนะหก; เพราะอายตนะหกเป็นปัจจัย จึงเกิดมีผัสสะ; เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา; เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีตัณหา; เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีอุปาทาน; เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดมีภพ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ; เพราะชาติเป็นปัจจัย, ชรา มรณะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมีพร้อม. ความก่อขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

- นิทาน. สํ. 16/2-5/5-17.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง