[Font : 15 ]
| |
ฐานที่ตั้งแห่งความมีสัมปชัญญะ 19 ฐาน |  

อานนท์ ! อย่างไรเล่า ชื่อว่า ภิกษุกระทำจิตในภายในนั่นแหละ ให้เป็นจิตตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นจิตหยุดพัก ให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ให้เป็นจิตตั้งมั่น ? อานนท์ ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม จึงเข้าถึงปฐมฌาน .... ทุติยฌาน.... ตติยฌาน .... จตุตถฌาน แล้วแลอยู่. อานนท์ ! อย่างนี้แล ชื่อว่าภิกษุกระทำจิตในภายในนั่นแหละ ให้เป็นจิตตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นจิตหยุดพัก ให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ให้เป็นจิตตั้งมั่น. ภิกษุนั้น ย่อมกระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นภายใน.

เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายใน ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายใน ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อม (สมฺปชาน) ในกรณีที่จิตไม่น้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นภายในนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 1).

ภิกษุนั้น ย่อมกระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นภายนอก. เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายนอกอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายนอก ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายนอกอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายนอก ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตไม่น้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นภายนอกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 2).

ภิกษุนั้น ย่อมกระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก. เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตไม่น้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 3).

ภิกษุนั้น ย่อมกระทำในใจซึ่ง อาเนญชะ. เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งอาเนญชะอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่ออาเนญชะ ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งอาเนญชะอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่ออาเนญชะ ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตไม่น้อมไปสู่อาเนญชะนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 4)

อานนท์ ! ภิกษุนั้น พึงกระทำจิตในภายในนั่นแหละให้ตั้งมั่นอยู่อย่างสม่ำเสมอ ในสมาธินิมิตที่เคยมีแล้วในกาลก่อน (คือในรูปฌาน 4 ที่กล่าวแล้วข้างต้น) นั้น นั่นเทียว พึงให้เป็นจิตหยุดพัก พึงให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว พึงให้เป็นจิตตั้งมั่น.

ภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นภายใน (ในรูปฌานทั้ง 4). เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายใน ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายใน ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตน้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นภายในนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 5).

ภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นภายนอก. เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายนอกอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายนอก ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายนอกอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายนอก ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตน้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นภายนอกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 6).

ภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก. เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น” ดังนี้ : ในกรณี อย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตน้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 7).

ภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่ง อาเนญชะ. เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งอาเนญชะอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่ออาเนญชะ ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น, อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งอาเนญชะอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่ออาเนญชะ ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตน้อมไปสู่อาเนญชะนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 8).

อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปเพื่อ การเดิน ; เธอก็ เดินด้วยการตั้งจิตว่า “บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเราผู้เดินอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ : ในกรณี อย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งการเดินนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 9).

อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปเพื่อ การยืน ; เธอก็ ยืนด้วยการตั้งใจว่า “บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเราผู้ยืนอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ : ในกรณี อย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งการยืนนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 10).

อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปเพื่อ การนั่ง ; เธอก็ นั่งด้วยการตั้งใจว่า “บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเราผู้นั่งอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ : ในกรณี อย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งการนั่งนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 11).

อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปเพื่อ การนอน ; เธอก็ นอนด้วยการตั้งใจว่า “บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเราผู้นอนอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ : ในกรณี อย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งการนอนนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 12).

อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปใน การพูด ; เธอก็ ตั้งจิตว่า “เราจักไม่พูดเรื่องเลวทราม เรื่องของชาวบ้าน เรื่องของบุถุชน ไม่ใช่เรื่องของพระอริยเจ้า ไม่ใช่เรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง รู้พร้อม เพื่อนิพพาน เห็นปานนั้น ; เช่นเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องของน่ากลัว เรื่องการรบพุ่ง เรื่องข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ระเบียบดอกไม้ ของหอม ญาติ ยานพาหนะ หมู่บ้าน จังหวัด เมืองหลวง บ้านนอก เรื่องหญิงชาย เรื่องคนกล้า เรื่องตรอกทางเดิน เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ตายไปแล้ว เรื่องต่าง ๆ นานา เรื่องโลก เรื่องมหาสมุทร เรื่องความรุ่งเรือง เรื่องความทรุดโทรม” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งเรื่องไม่ควรพูดนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 13).

แต่ถ้า กถาใด เป็นเรื่องขูดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การวิจารณญาณแห่งจิต เป็นไปเพื่อเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อรู้พร้อม เพื่อนิพพาน, กล่าวคือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ดังนี้ : เธอ ตั้งจิตคิดว่า “เราจักกล่าวกถาเห็นปานนั้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งกถาที่ควรพูดนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 14).

อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปใน การตรึก ; เธอก็ ตั้งจิตว่า “วิตกเหล่านี้ใด ซึ่งเลวทราม เป็นของชาวบ้าน ของบุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง รู้พร้อม เพื่อนิพพาน, กล่าวคือกามวิตก พ๎ยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก : เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานนั้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งวิตกอันไม่ควรตรึกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 15).

แต่ถ้า วิตกเหล่าใด ซึ่งเป็นของพระอริยเจ้า เป็นเครื่องนำออก ย่อมนำออกเพื่อความพ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตามวิตกนั้น, กล่าวคือ เนกขัมมวิตก อัพ๎ยาปาทวิตก อวิหิงสาวิตก ; เธอ ตั้งจิตคิดว่า “เราจักตรึกในวิตกเห็นปานนั้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งวิตกอันควรตรึกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 16).

อานนท์ ! กามคุณ 5 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 5 อย่าง อย่างไรเล่า ? 5 อย่างคือ รูป ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ .... เสียง ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วย โสตะ .... กลิ่น ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ .... รส ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา .... โผฏฐพพะ ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยกายะ อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด : เหล่านี้แล คือ กามคุณ 5 อย่าง ; ซึ่งในกามคุณเหล่านั้นภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนอยู่เนือง ๆ ว่า “มีอยู่แก่เราหรือไม่หนอ ที่ความกำเริบแห่งจิตเกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้. อานนท์ ! ถ้าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “มีอยู่แก่เราแล ที่ความกำเริบแห่งจิตเกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้ ; อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “ฉันทราคะในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ เรายังละไม่ได้” ดังนี้ : ในกรณี อย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งฉันทราคะในกามคุณที่ตนยังละมันไม่ได้นั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 17).

อานนท์ ! แต่ถ้าว่าภิกษุ เมื่อพิจารณาอยู่ ย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “ไม่มีอยู่แก่เราเลย ที่ความกำเริบแห่งจิตเกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้า หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้ ; อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “ฉันทราคะในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ เราละได้แล้ว” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งฉันทราคะ ในกามคุณห้าที่ตนละได้แล้วนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 18).

อานนท์ ! อุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้แล มีอยู่ ; ซึ่งในอุปาทานขันธ์ห้าเหล่านั้น ภิกษุพึงเป็นผู้มีปกติตามเห็นซึ่งความตั้งขึ้นและความเสื่อมไปอยู่ ดังนี้ว่า “รูป....เวทนา... สัญญา.... สังขาร....วิญญาณ, เป็นอย่างนี้, ความเกิดขึ้นแห่งรูป....เวทนา....สัญญา....สังขาร....วิญญาณ เป็นอย่างนี้, ความดับแห่งรูป....เวทนา....สัญญา....สังขาร....วิญญาณ เป็นอย่างนี้," ดังนี้. เมื่อภิกษุนั้นมีปกติตามเห็นซึ่งความตั้งขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้อยู่, อัส๎มิมานะในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า อันเธอย่อมละได้. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “อัส๎มิมานะของเราในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า, อันเราละได้แล้ว” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งอัส๎มิมานะในปัญจุปาทานขันธ์อันตนละได้แล้วนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ 19).

อานนท์ ! ธรรมทั้งหลาย (อันเป็นที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ 19 อย่าง) เหล่านี้แล เป็นไปเพื่อกุศลโดยส่วนเดียว เป็นของพระอริยเจ้า เป็นโลกุตตระ อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้.

- อุปริ. ม. 14/236 - 240/347 – 350.

(ที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ มีจำนวนนับได้ถึง 19 อย่างเช่นนี้ โดยถือเอาตามหลักเกณฑ์ในบาลีฉบับมอญและยุโรป ; ถ้าถือเอาตามที่ปรากฏอยู่ในบาลีฉบับไทย จะได้เพียง 14 อย่างเท่านั้น. ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงลักษณะแห่งผู้มีสัมปชัญญะอย่างลึกซึ่งสูงสุดละเอียดลออกว่าที่แสดงไว้ในบาลีแห่งอื่น เท่าที่ผู้รวบรวมเคยพบมา. ยังมีข้อความบางอย่างที่ควรศึกษาแปลกออกไปอีกบางประการ ที่หัวข้อว่า “จิตหยั่งลงอมตะเมื่อประกอบด้วยสัญญาอันเหมาะสม” ที่หน้า 766 แห่งหนังสือเล่มนี้ ; และพึงดูที่หัวข้อว่า “ลักษณะสัมปชัญญะระดับสูงสุด" ที่หน้า 1178 ด้วย).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง