[Font : 15 ]
| |
อนัตตา

1. พยัญชนะ : อนัตตาโดยพยัญชนะ : คือ มิใช่ตัวตน.

2. อรรถะ : อนัตตาโดยอรรถะ : คือ ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตน : เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ; แต่มีปรากฏการณ์ที่หลอกให้เข้าใจว่า เป็นตัวตน.

3. ไวพจน์ : อนัตตาโดยไวพจน์ : คือ สุญญตา, ตถาตา.

4. องค์ประกอบ : อนัตตาโดยองค์ประกอบ :

1. ความไม่เที่ยง, ความเป็นทุกข์, ความบังคับไม่ได้.

2. ความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อย่างไม่ฟังคำขอร้องใคร.

3. ความที่ใครเป็นเจ้าของไม่ได้.

โดยสรุป : ความมิใช่อาตมัน, เจตภูต, ชีโว, บุรุษ, บุคคลหรือวิญญาณ ; ที่ถือกันว่า เป็นสิ่งที่ท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร อย่างไม่รู้จักตาย.

5. ลักษณะ : อนัตตาโดยลักษณะ :

5.1 มีลักษณะตรงข้ามจากอัตตา.

5.2 ไม่เอื้อเฟื้อต่อความประสงค์ของใคร มีแต่จะเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาโดยท่าเดียว.

5.3 ไม่มีใครสามารถกระทําไว้ในอํานาจแห่งตน.

6. อาการ : อนัตตาโดยอาการ :

6.1 มีอาการที่แสดงว่า ใครจะยึดถือเอาเป็นตัวตน หรือของตนไม่ได้.

6.2 แต่ก็มีอาการหลอกให้คนโง่หลงว่าเป็นอัตตา.

7. ประเภท : อนัตตาโดยประเภท : มีสอง :

นัยที่ 1 :

1. อนัตตาของมิจฉาทิฏฐิ : คือ อนัตตาของผู้เข้าใจผิด เห็นว่าไม่มีอะไรเสียเลย; เช่น อุจเฉททิฏฐิA98, นัตถิกทิฏฐิA99, และ แม้สัสสตทิฏฐิA100 ที่ถูกเข้าใจว่ามีอัตตา; ทั้งที่มันมิใช่อัตตา.

2. อนัตตาของสัมมาทิฏฐิ : คือ อนัตตาของผู้เข้าใจถูก : ผู้มีทั้งสัมมาทิฏฐิและอนัตตานุทิฏฐิA101, คือเห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่เป็นอัตตาที่แท้จริง ; มีแต่อัตตาที่ถือเอาด้วยความสำคัญผิด แม้จะเป็นอัตตาโดยสัญชาตญาณ ตามธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย.

นัยที่ 2 :

1. อนัตตาของอันธพาล : เพื่อใช้หาเลศในการทำบาป ว่าไม่เป็นบาป เพราะไม่มีตัวตน.

2. อนัตตาของสัตบุรุษ : อย่างตรงไปตรงมา เป็นบุญหรือบาปได้ ทั้งที่เป็นอนัตตา.

นัยที่ 3 :

1. อนัตตาตามความหมายในพุทธศาสนา.

2. อนัตตาตามความหมายนอกพุทธศาสนา.

8. กฏเกณฑ์ : อนัตตาโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 เมื่อเห็นว่าเบญจขันธ์เป็นอนัตตา ก็ต้องเห็นว่า สิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ ก็ต้องเป็นอนัตตาด้วย ; แม้การดับแห่งความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ ที่ถือกันว่าเป็นนิพพาน ก็ต้องเป็นอนัตตา.

8.2 การเห็นอนัตตา ต้องเห็นภาวะที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ.

8.3 การเห็นอนัตตาในลักษณะถูกต้อง ต้องเป็นการเห็นที่ทำให้เบื่อหน่าย คลายกำหนัดในสังขารทั้งปวง; แต่ก็ยังทำให้เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรมโดยไม่ท้อถอย.

8.4 สังขตะเป็นอนัตตาก็จริง แต่แม้อสังขตะก็อย่าเข้าใจไปว่า จะไม่เป็นอนัตตา มันต้องเป็นอนัตตาอยู่นั่นเอง.

8.5 ต้องไม่ไปถือเอาสิ่งที่เป็นอนัตตา มาเป็น “เรา” “ของเรา” หรือ “ตัวตนของเรา”.

8.6 เมื่อไม่มี “เรา” เสียแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะทำให้อะไรๆ ให้มาเป็นของเรา.

9. สัจจะ : อนัตตาโดยสัจจะ : คือ

9.1 สิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จะเป็นอนัตตาก็จริง ; แต่แม้สิ่งที่เที่ยงและเป็นสุข ก็ยังคงเป็นอนัตตาอยู่นั่นเอง.

9.2 ถ้าไม่เห็นความเป็นธาตุ ก็ไม่อาจจะเห็นความเป็นอนัตตาของสิ่งทั้งปวง.

9.3 อนัตตาที่เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ.

9.4 ความเป็นอนัตตามีอยู่ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ยกเว้นสิ่งใด ; ไม่ว่าจะเป็นสังขตะ หรืออสังขตะ สังขารหรือวิสังขาร.

9.5 เมื่อเห็นอนัตตา จึงจะเห็นทางแห่งความหมดจด (พระนิพพาน).

9.6 การปฏิบัติเพื่อเห็นอนัตตา เป็นการปฏิบัติสูงสุดในพระพุทธศาสนา.

9.7 มีลักษณะไม่เหวี่ยงไปสุดโต่งจนเป็นอัตถิตา (ความมี); หรือนัตถิตา (ความไม่มี), ดังนั้น จึงไม่เป็นสัสสตทิฏฐิว่ามีอัตตา และไม่เป็นนัตถิกทิฏฐิหรือนิรัตตา คือความไม่มีอะไรเสียเลย ; แต่ ตั้งอยู่ตรงกลาง คือเป็นอัตตาที่มิใช่อัตตา; คือจะยึดถือเอาเป็นตัวตนไม่ได้ มีแต่กระแสปฏิจจสมุปบาท จึงเรียกว่า อนัตตา ; แปลว่า มิใช่อัตตา. นี้เป็นสัจจะของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่มีในศาสนาอื่น.

10. หน้าที่ : อนัตตาโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ (โดยสมมติ) ของอนัตตา : คือ กำจัดความหมายของอัตตา : หรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออัตตา.

10.2 หน้าที่ของมนุษย์ต่อสิ่งที่เรียกว่าอนัตตา : คือ ศึกษาและปฏิบัติ จนเห็นความจริงของอนัตตา; แล้วละอุปาทานว่าอัตตา ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้.

11. อุปมา : อนัตตาโดยอุปมา :

11.1 อุปมาของอนัตตาธรรม : เปรียบด้วยกฎบัญญัติอันเฉียบขาดของธรรมชาติ หรือโองการของสิ่งสูงสุด.

11.2 อุปมาของการเห็นอนัตตา : เปรียบเสมือนการเห็นที่แทงตลอด ทะลุทั่วทั้งจักรวาล และทุกจักรวาล.

11.3 อุปมาของอานิสงส์แห่งการเห็นอนัตตา : เปรียบเสมือนการได้รับยาบำบัดทุกข์ทุกชนิด อันเกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน.

12. สมุทัย : อนัตตาโดยสมุทัย :

12.1 สมุทัยของอนัตตาธรรม : คือ กฎของธรรมชาติ หรือมาจากกฎของธรรมชาติ จึงมีอำนาจครอบงำสิ่งทั้งปวง ให้เป็นอนัตตา.

12.2 สมุทัยของการเห็นอนัตตา : คือ การเห็นอนิจจังและทุกขัง.

13. อัตถังคมะ : อนัตตาโดยอัตถังคมะ :

13.1 กฎแห่งอนัตตาไม่มีอัตถังคมะ.

13.2 อนัตตลักษณะของสังขตธรรมย่อมดับไป พร้อมกับการดับของสังขตธรรมนั้นๆ.

13.3 ความเป็นอนัตตาของอสังขตธรรม ย่อมไม่มีการดับเหมือนกับสังขตธรรม.

14. อัสสาทะ : อนัตตาโดยอัสสาทะ :

14.1 อนัตตาธรรมไม่มีอัสสาทะ.

14.2 การเห็นอนัตตา เป็นอัสสาทะของนักปราชญ์ หรือบัณฑิตที่แท้จริง.

14.3 การเห็นอนัตตา เป็นการดับลงแห่งอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นจนเกิดทุกข์.

15. อาทีนวะ : อนัตตาโดยอาทีนวะ :

15.1 อนัตตาไม่มีอาทีนวะ.

15.2 การไม่รู้ ไม่เห็นอนัตตา เป็นอาทีนวะอย่างยิ่ง.

16. นิสสรณะ : อนัตตาโดยนิสสรณะ :

16.1 นิสสรณะจากอนัตตาไม่มี.

16.2 การรู้การเห็นอนัตตา เป็นหนทางออกจากความทุกข์ทั้งหลาย ที่เกิดจากการไม่เห็นอนัตตา.

16.3 การเห็นอนัตตา เป็นหนทางออกจากโลกิยะสู่โลกุตตระ.

17. ทางปฏิบัติ : อนัตตาโดยทางปฏิบัติ :

17.1 การที่จะมีความสะดวกรวดเร็วในการเห็นอนัตตา สำเร็จด้วยการอธิษฐานจิต 6 ประการ :

1. อธิษฐานว่า เราจักเป็นอตัมมโยในโลกทั้งปวง (อตัมมโย คือ: ผู้ที่ไม่อยู่ใต้อำนาจปรุงแต่ง ของสิ่งอะไรๆ ในโลก),

2. อธิษฐานว่า อหังการทั้งหลายของเรา จักเข้าถึงการดับ.

3. อธิษฐานว่า มมังการทั้งหลายของเรา จักเข้าถึงการดับ.

4. อธิษฐานว่า เราจักเป็นผู้ประกอบด้วยอสาธารณญาณ (ญาณพิเศษเฉพาะตน ไม่สาธารณะแก่คนทั่วไป).

5. อธิษฐานว่า ธรรมอันเป็นเหตุ จักเป็นสิ่งที่เราเห็นแล้วด้วยดี (เราจักเห็นธรรมที่เป็นเหตุ แห่งธรรมทั้งปวง),

6. อธิษฐานว่า ธรรมทั้งหลายอันเกิดแต่เหตุ จักเป็นสิ่งที่เราเห็นแล้วด้วยดี (เราจักเห็นธรรมทั้งปวงประเภทที่เป็นผล อันเกิดมาแต่เหตุ).

17.2 การรู้, การเห็น, การเข้าถึงอนัตตา, ต้องผ่านไปทางการรู้, การเห็นอนิจจัง และทุกขัง.

17.3 เมื่ออายตนะภายใน กระทบอายตนะภายนอก ให้มีสติรู้ทันท่วงทีในผลที่เกิดขึ้น; ว่ามันเป็น “สักว่า” กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ; ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตน ของตน.

17.4 การพยายามมองให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ทั้งหลายเป็นเพียงการปรุงแต่ง ระหว่างธรรมชาติที่เป็นเหตุ และธรรมชาติที่เป็นผล ตามกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาท ; ก็จะเห็นอนัตตาหรือสุญญตาโดยประจักษ์.

17.5 เมื่อจิตได้รับความกระทบกระเทือนด้วยความทุกข์ ก็ใช้เป็นโอกาสที่จะพยายามมองให้เห็นว่า ; นี่แหละธรรมดาของสังขารทั้งปวง ซึ่งเป็นอนัตตา. มิใช่ความผิดแปลก หรือกรณีพิเศษแต่อย่างใด.

17.6 ต้องปฏิบัติจนมองเห็นความจริงว่า สังขารธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาอยู่ตลอดเวลา ; โดยไม่เกี่ยวกับความยึดถือ หรือความไม่ยึดถือ แม้แต่นิดเดียว.

17.7 ปฏิบัติเพื่อให้เห็นอนัตตา จนไม่ยึดมั่นถือมั่นเพียงอย่างเดียวเถิด; หน้าที่เพื่อการดับทุกข์อย่างอื่นๆ ก็จะดับไป หรือสิ้นสุดไปอย่างไม่มีเหลือ โดยอัตโนมัติ.

17.8 จงปฏิบัติการเห็นอนิจจังให้ถึงที่สุดเถิด จะเกิดความเป็นอัตโนมัติในการเห็นอนัตตา.

18. อานิสงส์ : อนัตตาโดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์ของอนัตตา : คือ การกำจัดอัตตา.

18.2 อานิสงส์ของการเห็นอนัตตา :

1. การเริ่มเห็นอนัตตา เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นอริยบุคคล.

2. การเห็นอนัตตา เป็นจุดตั้งต้นของ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ กระทั่งนิพพาน.

3. ความหลุดพ้นมีได้ เพราะการเห็นอนัตตาในสิ่งที่ตนยึดถือ.

4. ความสิ้นกรรมมีได้ เพราะการเห็นอนัตตาของสิ่งที่เรียกว่ากรรม; ของผู้กระทำกรรม; และของการกระทำกรรม.

5. ความสุขที่แท้จริงและสูงสุด ปรากฏแก่จิตที่ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน หรือของตน ; เพราะอิทธิพลของการเห็นอนัตตา.

6. อานุภาพแห่งการเห็นอนัตตา ย่อมทำลายอาณาจักรแห่งความกลัวทุกชนิด ; แม้แต่การกลัวผีของลูกเด็กๆ.

19. หนทางถลำ : อนัตตาโดยหนทางถลำ :

19.1 เข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งที่เป็นอนัตตา : เพราะถูกครอบงำด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน.

19.2 ออกจากอิทธิพลของสิ่งที่เป็นอนัตตา : คือ เป็นอิสระจากการครอบงำของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ; เพราะมีวิชชา นิพพิทา วิราคะ.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : อนัตตาโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ในการออกจากอัตตามาสู่อนัตตา : คือ การเห็นสิ่งทั้งปวง โดยความเป็นธาตุตามธรรมชาติ มิใช่เป็นอัตตา หรือควรจะเป็นอัตตา.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : อนัตตาโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : ไม่มีประโยชน์ ไม่มีแก่นสาร.

ภาษาธรรม : ไม่ควรยึดถือว่าตัวตน.

21.2 ภาษาคน : ถือคำพูดที่มนุษย์บัญญัติ.

ภาษาธรรม : ความจริงของธรรมชาติหรือธรรมชาติกำหนด.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. กข กกา ของการศึกษาพุทธศาสนา

2. ไกวัลยธรรม

3. อาสาฬหบูชาเทศนา เล่ม 1

4. โอสาเรตัพพธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง