[Font : 15 ]
| |
(ข. ฝ่ายกุศล) |  

กาลามทั้งหลายเอ๋ย ! มา (พูดกัน) เถิด ท่านทั้งหลาย :-

อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังตามๆ กันมา (อนุสฺสว) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ากระทำตามๆ กันมา (ปรมฺปร) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าเล่าลือกันอยู่ (อิติกิร) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ามีที่อ้างในปิฎก (ปิฏกสมฺปทาน) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางตรรกคาดคะเน (ตกฺกเหตุ) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางนัยะสันนิฏฐาน (นยเหตุ) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การตรึกตามอาการ (อาการปริวิตกฺก) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า ทนต่อการเพ่งแห่งทิฏฐิ (ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า ฟังดูน่าเชื่อ (ภพฺพรูปตา) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า สมณะผู้พูดเป็นครูของตน (สมโณโน ครุ).

กาลาม ท. ! เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า “ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล, ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ, ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนสรรเสริญ, ธรรมเหล่านี้ กระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล, ” ดังนี้แล้ว; เมื่อนั้น ท่านพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้น แล้วแลอยู่เถิด.

กาลาม ท. ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ความไม่โลภ เกิดขึ้นในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูลหรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? “เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” บุคคลนั้นไม่โลภแล้ว ความโลภไม่ครอบงำแล้ว ความโลภไม่กลุ้มรุมจิตแล้ว ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” .

กาลาม ท. ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : อโทสะ เกิดขึ้นในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? “เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” บุคคลนั้นไม่มีโทสะแล้ว โทสะไม่ครอบงำแล้ว โทสะไม่กลุ้มรุมจิตแล้ว ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” .

กาลาม ท. ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : อโมหะ เกิดขึ้นในบุคคลแล้ว เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ? “เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า !” บุคคลนั้นไม่มีโมหะแล้ว โมหะไม่ครอบงำแล้ว โมหะไม่กลุ้มรุมจิตแล้ว ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้อื่นในการกระทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ตลอดกาลนาน มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !”.

กาลาม ท. ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ธรรมทั้งหลาย (ตามที่กล่าวมา) เหล่านี้ เป็น กุศลหรือเป็นอกุศล ? “เป็นกุศล พระเจ้าข้า !” มีโทษหรือไม่มีโทษ ? “ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า !” วิญญูชนติเตียน หรือวิญญูชนสรรเสริญ ? “วิญญูชนสรรเสริญพระเจ้าข้า !” เมื่อประพฤติกระทำเต็มตามมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร ? “เมื่อประพฤติกระทำเต็มตามมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นประโยชน์เกื้อกูล ในเรื่องนี้พวกข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ พระเจ้าข้า !”

กาลาม ท. ! เรา (อาศัยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างบนทั้งหมดนั้น) จึงกล่าวข้อความที่กล่าวว่า “กาลามทั้งหลายเอ๋ย ! มา (พูดกัน) เถิด ท่านทั้งหลาย :-

อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังตามๆ กันมา (อนุสฺสว) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ากระทำตามๆ กันมา (ปรมฺปร) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าเล่าลือกันอยู่ (อิติกิร) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ามีที่อ้างในปิฎก (ปิฏกสมฺปทาน) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางตรรก (ตกฺกเหตุ); อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางนัยะ (นยเหตุ) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การตรึกตามอาการ (อาการปริวิตกฺก) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า ทนต่อการเพ่งแห่งทิฏฐิ (ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติ) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า ฟังดูน่าเชื่อ (ภพฺพรูปตา) ; อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า สมณะผู้พูดเป็นครูของตน (สมโณโน ครุ).

กาลาม ท. ! เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ‘ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล, ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ, ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนสรรเสริญ, ธรรมเหล่านี้ กระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุขเป็นประโยชน์เกื้อกูล’ ดังนี้แล้ว; เมื่อนั้น ท่านพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้น แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้ ซึ่งเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยเหตุผลข้างต้นนั้น.

กาลาม ท. ! อริยสาวกนั้น ปราศจากอภิชฌาอย่างนี้ ปราศจากพยาบาทอย่างนี้ ไม่มีโมหะ มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า มีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) 1 และทิศที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยเมตตา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่; มีจิตสหรคตด้วยกรุณา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) 1 และทิศที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยกรุณา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่; มีจิตสหรคตด้วยมุทิตา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) 1 และทิศที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยมุทิตา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่; มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศ (ที่) 1 และทิศที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยอุเบกขา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท กว้างขวาง ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่.

กาลาม ท. ! อริยสาวกนั้น มีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตหมดจดวิเศษอย่างนี้ แล้ว ความเบาใจ 4 ประการ ย่อมเกิดมีแก่อริยสาวกนั้น ในทิฏฐธรรมเทียว ว่า “1. ถ้าปรโลกมีผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมี, ฐานะที่จะมีได้ก็คือ เราจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เพราะเหตุนั้น ดังนี้ : นี้เป็นความเบาใจประการที่หนึ่ง ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น. 2. ถ้าปรโลกไม่มีผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี, เราที่นี่ในทิฏฐธรรมนี้แหละ ก็บริหารตนอยู่เป็นสุข ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไม่มีทุกข์ ดังนี้ : นี้เป็นความเบาใจประการที่ 3 ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น. 3. ถ้าบาปเป็นอันกระทำสำหรับผู้กระทำ, ส่วนเราไม่ได้คิดจะทำบาปไรๆ ทุกข์จักถูกต้องเราผู้มิได้ทำบาปอยู่ แต่ที่ไหน ดังนี้ : นี้เป็นความเบาใจประการที่ 3 ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น. 4. ถ้าบาปไม่เป็นอันกระทำสำหรับผู้กระทำ อยู่แล้วไซร้, ที่นี่ เราก็มองเห็นตนว่าบริสุทธิ์หมดจดอยู่ โดยโลกทั้งสอง ดังนี้ : นี้เป็นความเบาใจประการที่ 4 ที่เกิดมีแก่อริยสาวกนั้น. กาลาม ท. ! อริยสาวกนั้น มีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่พยาบาทอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตหมดจดวิเศษอย่างนี้ แล้ว ความเบาใจ 4 ประการเหล่านี้ ย่อมเกิดมีแก่อริยสาวกนั้น ในทิฏฐธรรมเทียว.

“ข้าแต่ผู้มีพระภาค ! ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น. ข้าแต่พระสุคต ! ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น....” (ชาวกาลามเหล่านั้น รับสนองพระพุทธดำรัสกล่าวย้ำข้อความนี้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยตนเอง, แล้วทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสก).

- ติก. อ. 20/246-248/505.

(ผู้ศึกษาอาจจะสังเกตเห็นได้เองว่า การศึกษาและปฏิบัติตามหลักอริยสัจสี่ประการนั้น จะไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกาลามสูตรทั้งสิบประการแต่อย่างใด เพราะมีเหตุผลที่แสดงชัดอยู่ในตัวเองว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร มรรคอาจจะดับทุกข์ได้แท้จริงอย่างไร โดยไม่ต้องเชื่อคำบอกตามๆ กันมา ไม่ต้องดูการประพฤติตามๆ กันมา หรือเชื่อตามคำเล่าลือ หรืออ้างว่ามีอยู่ในตำรา หรือใช้เหตุผลตามทางตรรก หรือตามทางนัยะคือปรัชญา หรือตรึกตามสามัญสำนึก หรือเพราะเข้ากันได้กับเหตุผลของตน หรือผู้พูดอยู่ในฐานะน่าเชื่อ หรือผู้พูดเป็นครูของตน ซึ่งพระองค์เองก็ได้ตรัสย้ำในข้อนี้อยู่เสมอ. เป็นอันกล่าวได้ว่า ความรู้และการปฏิบัติในอริยสัจทั้งสี่นี้ ไม่มีทางที่จะเป็นเรื่องงมงาย หรือสีลัพพัตตปรามาส อันขัดต่อหลักกาลามสูตร แต่อย่างใด).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง