[Font : 15 ]
| |
สติในการเผชิญโลกธรรม ของอริยสาวก |  

ภิกษุ ท. ! ลาภเกิดขึ้นแก่บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ เขาไม่พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ จึงไม่รู้ชัดตามเป็นจริงว่า “ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา” ดังนี้. (ในกรณีแห่ง ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ ก็มีข้อความที่ตรัสไว้อย่างเดียวกัน).

ลาภ ก็ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ; ความเสื่อมลาภ ก็ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ;

ยศ ก็ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ; ความเสื่อมยศ ก็ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ;

นินทา ก็ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ; สรรเสริญ ก็ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ;

สุข ก็ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ; ทุกข์ ก็ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่.

บุถุชนนั้น ย่อมยินดีใน ลาภ ย่อมยินร้ายใน ความเสื่อมลาภ อันเกิดขึ้นแล้ว ;

ย่อมยินดีใน ยศ ย่อมยินร้ายใน ความเสื่อมยศ อันเกิดขึ้นแล้ว ;

ย่อมยินดีใน สรรเสริญ ย่อมยินร้ายใน นินทา อันเกิดขึ้นแล้ว ;

ย่อมยินดีใน สุข ย่อมยินร้ายใน ทุกข์ อันเกิดขึ้นแล้ว.

เขาถึงพร้อมด้วยความยินดียินร้าย อยู่ดังนี้ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลาย, เรากล่าวว่า “เขาไม่หลุดพ้นจากทุกข์” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! ลาภเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้มีการสดับ เขาพิจารณาเห็นโดยประจักษ์ จึงรู้ชัดตามเป็นจริง ว่า “ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา” ดังนี้. (ในกรณีแห่ง ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ ก็มีข้อความที่ตรัสไว้อย่างเดียวกัน).

ลาภก็ไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ; ความเสื่อมลาภ ก็ไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ;

ยศ ก็ไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ; ความเสื่อมยศ ก็ไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ;

นินทา ก็ไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ; สรรเสริญ ก็ไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ;

สุข ก็ไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ ; ทุกข์ ก็ไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่.

อริยสาวกนั้น ย่อมไม่ยินดีในลาภ ย่อมไม่ยินร้ายใน ความเสื่อมลาภ อันเกิดขึ้นแล้ว ;

ย่อมไม่ยินดีใน ยศ ย่อมไม่ยินร้ายใน ความเสื่อมยศ อันเกิดขึ้นแล้ว ;

ย่อมไม่ยินดีใน สรรเสริญ ย่อมไม่ยินร้ายใน นินทา อันเกิดขึ้นแล้ว ;

ย่อมไม่ยินดีใน สุข ย่อมไม่ยินร้ายใน ทุกข์ อันเกิดขึ้นแล้ว.

เขามีความยินดีและยินร้ายอันละได้แล้ว อยู่ดังนี้ ย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลาย, เรากล่าวว่า “เขาหลุดพ้นได้จากทุกข์" ดังนี้.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)

มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ แปดอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงในหมู่มนุษย์ ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.

ผู้มีปัญญา มีสติ รู้ความข้อนี้แล้ว ย่อมเพ่งอยู่ในความแปรปรวนเป็นธรรมดาของโลกธรรมนั้น.

- อฏฺฐก. อํ. 23/159/96.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง