[Font : 15 ]
| |
โลก

1. พยัญชนะ : โลกโดยพยัญชนะ : คือ สิ่งที่ต้องแตกเป็นธรรมดา.

2. อรรถะ : โลกโดยอรรถะ :

2.1 อรรถะในทางรูปธรรม :

1. คือตัวแผ่นดินโลกตามที่เห็นกันอยู่หรือเชื่อกันอยู่ว่าเป็นอย่างนั้นๆ; มีหลายโลก เชื่อกันกระทั่งว่า มีนิริยโลก, เทวโลก, พรหมโลก.

2. นิยมแบ่งกันเป็นโลกมนุษย์ โลกสัตว์.

2.2 อรรถะในทางนามธรรม :

ได้แก่ สิ่งทั้งหลายที่มาปรากฏแก่ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ที่เรียกว่า อารมณ์ 6.

2.3 อรรถะในทางปรมัตถ์ :

1. ตรัสว่า ความทุกข์นั่นแหละคือโลก.

2. โลกนี้เป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่มีตัวจริง.

3. โลกนี้เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วยอวิชชา อุปาทาน.

4. โลกนี้คือที่ประชุมรวมของสิ่งที่เป็นมายา โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.

3. ไวพจน์ : โลกโดยไวพจน์ : คือ ภพ, วิญญาณฐิติ, โลกธาตุ, จักรวาล ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : โลกโดยองค์ประกอบ :

4.1 ทางรูปธรรม : ธาตุทั้ง 6 : ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, อากาศ, วิญญาณ.

4.2 ทางนามธรรม : อายตนะภายใน, อายตนะภายนอก.

4.3 ทางความหมายปรมัตถ์ : ตัณหา, อารมณ์ของตัณหา และความทุกข์ซึ่งเป็นผล.

5. ลักษณะ : โลกโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.

5.2 แห่งการหลอกลวงว่าเป็นตัวตน.

6. อาการ : โลกโดยอาการ : มีอาการ :

6.1 เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ.

6.2 เคลื่อนไปหาความแตกดับ.

7. ประเภท : โลกโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. โลกข้างใน (โลกภายใน).

2. โลกข้างนอก.

กลุ่มที่ 2 :

1. โลกฝ่ายวัตถุ เรียกว่ารูป.

2. โลกฝ่ายจิตใจ เรียกว่านาม.

กลุ่มที่ 3 :

1. โลกนี้.

2. โลกอื่น (ภาวะที่ผิดไปจากโลกนี้).

กลุ่มที่ 4 :

1. โลกในภาษาคน.

2. โลกในภาษาธรรม.

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม : โลกฝ่ายนามธรรม :

กลุ่มที่ 1 :

1. กามโลก.

2. รูปโลก.

3. อรูปโลก.

กลุ่มที่ 2 :

1. โลกที่มีวิภาคตามลักษณะของอายตนะ มี 6 : คือ โลกที่ปรากฏทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกาย, ทางใจ.

2. โลกที่มีวิภาคตามลักษณะของตัณหา มี 3 : คือ โลกสำหรับสัตว์ผู้มีกามตัณหา, ผู้มีภวตัณหา, ผู้มีวิภวตัณหา.

3. โลกที่มีวิภาคตามลักษณะแห่งภูมิของจิต มี 4 : คือ โลกสำหรับสัตว์ผู้ตั้งอยู่ในกามาวจรภูมิ, ผู้ตั้งอยู่ในรูปาวจรภูมิ, ผู้ตั้งอยู่ในอรูปาวจรภูมิ, ผู้ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิ.

ฯลฯ

8. กฎเกณฑ์ : โลกโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 โลกคือโลกิยะมีกฎเกณฑ์ตรงกันข้ามกับโลกุตตระ.

8.2 โลกมีกฎเกณฑ์ที่ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย.

8.3 สิ่งที่เรียกว่าโลกจะมีความสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อมีแผ่นดินโลก มีสัตว์โลก และคุณค่าของสิ่งนั้นๆ.

9. สัจจะ : โลกโดยสัจจะ :

9.1 โลก, เหตุให้เกิดโลก, ความดับแห่งโลก, ทางให้ถึงความดับแห่งโลกนี้, มีอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง ที่ยังมีสัญญาและใจ.

9.2 โลกคือทุกสิ่งที่มากระทบทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ โลกเกิดตับอยู่ตลอดเวลา.

9.3 สัตว์โลกมีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น เครื่องหุ้มห่อให้ไม่รู้จักโลก.

9.4 โลก (สัตว์โลก) มีจิตเป็นผู้นำ.

9.5 โลกทั้งปวงว่างจากสิ่งที่ควรยึดถือว่าตัวตนและของตน.

9.6 ฆราวาสหรือบรรพชิตก็สามารถปฏิบัติเพื่อดับโลกได้.

10. หน้าที่ : โลกโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่โดยตรง : คือ การแตกดับตลอดเวลา.

10.2 หน้าที่ (โดยอ้อม) ของแผ่นดินโลก : คือ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์โลก.

10.3 หน้าที่ของมนุษย์ต่อโลก : คือ :

1. ศึกษาโลก, รู้จักโลก, อยู่ในโลกโดยไม่ต้องเป็นทุกข์.

2. ตอบแทนคุณโลก.

11. อุปมา : โลกโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 โรงละคร ซึ่งมีมนุษย์เป็นผู้แสดงโดยไม่ต้องฝึกต้องสอน.

11.2 บทเรียนซึ่งจะต้องศึกษาและปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อสิ่งที่เรียกว่าโลก.

11.3 เครื่องทดสอบของพญามาร คือ มีปัญหายุ่งยากที่จะต้องผ่านไปให้ได้.

11.4 ร่มไม้สำหรับพักในระหว่างทาง.

11.5 ทางผ่านที่แสนจะทุรกันดาร คือ เต็มไปด้วยปัญหาที่จะต้องผ่านไปให้ได้.

11.6 มหาสมุทรเป็นที่รวมแห่งปลาโง่ คือ ชาวโลก.

11.7 กรงไก่ที่เขาใส่ไก่ไว้สำหรับจะเอาไปฆ่า แล้วโง่จนจิกกันเองอยู่ในกรง (โลก).

12. สมุทัย : โลกโดยสมุทัย :

12.1 แผ่นดินโลกมีกฎของธรรมชาติเป็นสมุทัย.

12.2 สัตว์โลกมีอวิชชา ตัณหา อุปาทานเป็นสมุทัย.

12.3 โลกที่เป็นภาวะของจิต มีตัณหาเป็นสมุทัย.

13. อัตถังคมะ : โลกโดยอัตถังคมะ :

13.1 ความดับไปตามคราวเพราะขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรมหรือสังขตธรรมทั้งหลาย.

13.2 ความไร้ศีลธรรมหรือความเห็นแก่ตัวของสัตว์โลกเป็นไปถึงที่สุด.

13.3 สำหรับโลกคือภาวะแห่งจิต มีอัตถังคมะ คือ ความสิ้นไปแห่งกิเลสอาสวะ.

14. อัสสาทะ : โลกโดยอัสสาทะ :

14.1 มีสำหรับปุถุชนในรูปของกามคุณ 5A54 ไม่มีสำหรับพระอริยเจ้า.

14.2 ในความหมายพิเศษสำหรับนักปราชญ์ โลกเป็นอัสสาทะในการศึกษาอย่างไม่รู้จบสิ้น.

14.3 สำหรับแผ่นดิน โลกมีอัสสาทะแก่นักขุดค้นทรัพยากร; เพื่อนำมาผลิตสำหรับความร่ำรวย.

15. อาทีนวะ : โลกโดยอาทีนวะ : อาทีนวะมีเฉพาะแก่ผู้เข้าไปยึดถือโลก ด้วยอุปาทาน ว่าตัวตนว่าของตน ; แต่ไม่มีแก่ผู้ไม่ยึดถือ.

16. นิสสรณะ : โลกโดยนิสสรณะ : ทางออกจากโลกสำหรับมนุษย์ : ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยความเป็นตัวตน โดยการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นต้น.

17. ทางปฏิบัติ : โลกโดยทางปฏิบัติ :

17.1 ศึกษาโลกให้รู้จักโลกตามความเป็นจริงว่า ยึดถือว่าเป็นตัวตนของตนไม่ได้.

17.2 ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 ไม่ยึดถือโดยความเป็นตัวตน แต่ใช้โลกให้เป็นประโยชน์ตามที่ต้องการได้.

17.3 มีโลกในลักษณะเป็นของยืมใช้ชั่วคราว แล้วต้องส่งคืนเจ้าของ (ปฏินิสสัคคะ).

18. อานิสงส์ : โลกโดยอานิสงส์ : อานิสงส์จากโลกโดยตรงไม่มี ; มีแต่อานิสงส์ของการปฏิบัติต่อโลกอย่างถูกต้อง จนมีประโยชน์แก่การดำรงชีวิต, แต่ก็ต้องไม่มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง.

19. หนทางถลำ : โลกโดยหนทางถลำ :

19.1 เข้าไปเมาโลก จมโลก : คือ ไม่มีสติ, ปัญญา, สัมปชัญญะ, สมาธิ, เท่าที่ควรมี เพราะคบคนพาล.

19.2 ออกมาจากโลก : คือ มีสติ, ปัญญา, สัมปชัญญะ, สมาธิ, อย่างเพียงพอ เพราะคบบัณฑิต.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : โลกโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : เพื่อการออกจากโลก :

20.1 ความรู้จักโลกจนไม่หลงโลก.

20.2 ความมีสติในการรับอารมณ์.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : โลกโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : โลกคือแผ่นดินโลก.

ภาษาธรรม : โลกคืออารมณ์ที่มากระทบตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ.

21.2 ภาษาคน : โลกมีอยู่ตลอดเวลา.

ภาษาธรรม : โลกเกิดดับอยู่ตลอดเวลา.

21.3 ภาษาคน : โลกคือสิ่งสวยงามวิจิตรตระการตา.

ภาษาธรรม : โลกคือสิ่งที่มีไฟลุกอยู่เป็นนิจ.

21.4 ภาษาคน : โลกนี้น่ารัก; โลกนี้น่าเกลียด.

ภาษาธรรม : โลกนี้เป็นเช่นนั้นเอง.

21.5 ภาษาคน : โลกนี้เป็นของจริง.

ภาษาธรรม : โลกนี้เป็นมายา.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. กข กกา ของการศึกษาพุทธศาสนา

2. ราชภโฏวาท

3. สันทัสเสตัพพธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง