[Font : 15 ]
| |
ธรรมเป็นรุ่งอรุณแห่งอัฏฐังคิกมรรค |  

ภิกษุ ท. ! เมื่อดวงอาทิตย์กำลังขึ้น สิ่งที่มาก่อน เป็นนิมิตให้เห็นก่อน คือการขึ้นมาแห่งอรุณ ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! เมื่อมีการเกิดขึ้นแห่งอริยอัฏฐังคิกมรรคของภิกษุ สิ่งที่มาก่อน เป็นนิมิตให้เห็นก่อน คือ กัล๎ยาณมิตตตา (ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร) ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุ ท. ! นี่คือความหวังของภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร คือเธอจักเจริญอริยอัฏฐังคิกมรรคได้ จักกระทำให้มากซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรคได้.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมเจริญอริยอัฏฐังคิกมรรค ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรคได้ ชนิดไหนกันเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ .... สัมมาสังกัปปะ .... สัมมาวาจา .... สัมมากัมมันตะ .... สัมมาอาชีวะ .... สัมมาวายามะ .... สัมมาสติ .... สัมมาสมาธิ ชนิดที่ อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสลัดลง. ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมเจริญอริยอัฏฐังคิกมรรค ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรคได้ อย่างนี้แล.

- มหาวาร. สํ. 19/36-39/129-146.

[ในตำแหน่งแห่ง กัล๎ยาณมิตตตา ในฐานะเป็นรุ่งอรุณแห่งอัฏฐังคิกมรรคนั้น ในสูตรอื่นทรงแสดงไว้ด้วยธรรมะชื่ออื่นอีกหลายชื่อ คือ :-

ศีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) เป็นรุ่งอรุณ

ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ - ความพอใจ) เป็นรุ่งอรุณ

อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความเหมาะสมแห่งตน) เป็นรุ่งอรุณ

ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิที่เป็นสัมมาทิฏฐิ) เป็นรุ่งอรุณ

อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท) เป็นรุ่งอรุณ

โยนิโสมนสิการสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย) เป็นรุ่งอรุณ (รวมเป็น 7 อย่างทั้งกัล๎ยาณมิตตตา) และต่อท้ายด้วยคำว่าผู้มีกัลยาณมิตรเป็นต้น ย่อมเจริญกระทำให้มากซึ่งองค์แห่งมรรคชนิดอาศัยวิเวกอาศัยวิราคะเป็นต้น ด้วยกันทั้งนั้น.

ในสูตรอื่น ผู้มีกัลยาณมิตรเป็นต้น นอกจากจะเจริญกระทำให้มากซึ่งองค์แห่งมรรค ชนิดที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสลัดลง ได้แล้ว, ยังสามารถเจริญองค์มรรค ชนิดที่มีการนำออกซึ่งราคะ – โทสะ - โมหะ เป็นปริโยสาน ได้, ดังนี้ก็มี.

สำหรับคำว่า ธรรมที่เป็นรุ่งอรุณแห่งการเกิดขึ้นของอัฏฐังคิกมรรค 7 ประการ ข้างบนนั้น ในสูตรอื่นๆ ไม่เรียกว่า รุ่งอรุณ แต่เรียกว่า เป็น ธรรมที่มีอุปการะมาก (พหุปการธมฺม) เพื่อการเกิดขึ้นแห่งอัฏฐังคิกมรรค (19/40-42/147-164) ก็มี ; และในสูตรอื่นๆ เรียกว่า เป็น ธรรมะที่ทำอัฏฐังคิกมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำอัฏฐังคิกมรรคที่เกิดอยู่แล้วให้ถึงความเจริญบริบูรณ์ (19/44-47/165-182) ก็มี ; และตอนท้ายสูตร ก็มีต่อท้ายด้วยคำว่า ผู้มีกัลยาณมิตรเป็นต้น ย่อมเจริญกระทำให้มากซึ่งองค์แห่งมรรค ชนิดอาศัยวิเวกเป็นต้น และชนิดที่มีการนำออกซึ่ง ราคะ – โทสะ - โมหะ เป็นปริโยสาน ด้วยกันทั้งนั้น. ]


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง