[Font : 15 ]
| |
ทรงทำผู้มุ่งร้ายให้แพ้ภัยตัวเอง |  

อัคคิเวสนะ! ท่านสำคัญว่าอย่างไร ในข้อที่ท่านกล่าวว่า `รูปเป็นตัวตนของเรา' ดังนี้, ก็อำนาจของท่านอาจเป็นไปได้ในรูปนั้นว่า รูปจงเป็นอย่างนี้ๆ เถิด อย่างได้เป็นอย่างนั้นๆ เลย' ดังนี้หรือ?

สัจจกอัคคิเวสนะ ได้ทูลตอบว่า "ข้อนี้ไม่เป็นอย่างนั้นดอก พระโคดม!"

อัคคิเวสนะ! ท่านจงใคร่ครวญ, ใคร่ครวญแล้วจึงกล่าวแก้. คำหลังของท่านไม่เข้ากันได้กับคำก่อน คำก่อนไม่เข้ากับคำหลังเสียแล้ว. อัคคิเวสนะ! ท่านจะสำคัญข้อนี้ว่าอย่างไร : รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

"ไม่เที่ยง, พระโคดม!"

อัคคิเวสนะ! สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนี้นส่อทุกข์หรือส่อสุข?

"ส่อทุกข์, พระโคดม!"

สิ่งใดไม่เที่ยง ส่อทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา, ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่าของเรา เป็นเรา เป็นตัวของเรา ดังนี้?

"ไม่ควรเลย, พระโคดม!"

(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีการถามตอบ โดยทำนองเดียวกันนี้.)

อัคคิเวสนะ! ท่านจะเข้าใจอย่างไร : เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ตัวท่านติดทุกข์แล้ว เข้าถึงทุกข์แล้ว จมเข้าในทุกแล้ว ท่านจักเห็นทุกข์นั้นว่า`นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา' ดังนี้เจียวหรือ?

"ทำไมจะไม่เป็นเช่นนั้นเล่า, พระโคดม!"

อัคคิเวสนะ! เปรียบเหมือนบุรุษต้องการไม้แก่น เที่ยวหาไม้แก่นถือเอาขวานถากที่คมกริบ เข้าไปในป่า เห็นกล้วยต้นใหญ่ ต้นตรง ยังไม่ทันจะตกเครือ ยังไม่ตั้งปลีภายใน. เขาตัดกล้วยต้นนั้นที่โคน แล้วตัดยอดปอกกาบแล้ว ก็ยังไม่พบแม้แต่กระพี้ แก่นจักมีมาแต่ไหน, ฉันใดก็ฉันนั้น, อัคคิเวสนะ! ท่านถูกเราซักไซ้ สอบถาม ทบทวนในคำของท่านเอง ก็เป็นผู้มีถ้อยคำว่างเปล่าละลายไป. อัคคิเวสนะ! ท่านได้ป่าวประกาศในที่ประชุมชนเมืองเวสาลี ว่า"ข้าพเจ้าไม่มองเห็นสมณะ หรือพราหมณ์ใด ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ แม้จะปฏิญญาตนเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ที่ถ้าข้าพเจ้าโต้วาทะด้วยวาทะแล้วจักไม่เป็นผู้ประหม่าตัวสั่นระรัว มีเหงื่อไหลจากรักแร้ ไปได้เลย, เพราะถ้าแม้ข้าพเจ้า โต้วาทะด้วยวาทะ กับเสาที่เป็นของไม่มีจิตใจ เสานั้นก็จะต้องสั่นสะท้าน, ป่วยกล่าวไปไย ถึงสัตว์ที่เป็นมนุษย์" ดังนี้. แต่มาบัดนี้ เหงื่อเป็นหยดๆ ตกลงแล้วจากหน้าผากของท่าน ถูกผ้าห่มแล้วลงถูกพื้น, ส่วนเหงื่อในกายเราเดี๋ยวนี้ ไม่มีเลย.

- บาลี จูฬสัจจกสูตร มู.ม. 12/429/398. ตรัสแก่สัจจกนิครนถบุตร อัคคิเวสนโคตร.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง