[Font : 15 ]
| |
มนุษย์

1. พยัญชนะ : มนุษย์โดยพยัญชนะ : คือ มีใจสูง ; อีกความหมายหนึ่ง เหล่ากอของมนู.

2. อรรถะ : มนุษย์โดยอรรถะ :

2.1 ความหมายทางฝ่ายวัตถุหรือทางกาย : มีรูปร่างอย่างมนุษย์.

2.2 ความหมายทางจิตใจ : มีจิตใจอย่างมนุษย์; หมายความว่า มีจิตใจสูงกว่าธรรมชาติ; สามารถกำจัดปัญหาได้มากกว่าคน ธรรมดา; และเข้าใจว่าเป็นเพราะเหล่ากอแห่งมนูนั่นเอง. ถ้าจิตใจยังไม่สูงถึงระดับนี้ ก็เป็นคนธรรมดา เรียกว่า ชน แปลว่า เกิดมา.

3. ไวพจน์ : มนุษย์โดยไวพจน์ : คือ ปุคคล, ปุริส, โปส, ปชา, นร, บุรุษ, บุคคล, ชน, ประชาชน, คน, สัตว์ (ชนิดมนุษย์มิใช่เดรัจฉาน).

4. องค์ประกอบ : มนุษย์โดยองค์ประกอบ :

4.1 ประชุมแห่งรูปและนามหรือกายและจิต ชนิดที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา พอสมกับความหมายของคำว่ามนุษย์.

4.2 ประชุมแห่งขันธ์ 5.

4.3 ประชุมแห่งธาตุทั้ง 6 คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาศ, วิญญาณ.

5. ลักษณะ : มนุษย์โดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 สูงกว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งทางกายและจิต.

5.2 สูงกว่าคนธรรมดาในทางจิต.

5.3 แห่งความพร้อมที่จะรู้ธรรมะในชั้นโลกุตตระ.

6. อาการ : มนุษย์โดยอาการ : มีอาการ :

6.1 แห่งผู้มีใจสูง ; ไม่หลงจมอยู่ในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ; เช่นเรื่องกิน กาม เกียรติ เป็นต้น.

6.2 แห่งการก้าวหน้าไปสู่คุณค่าเบื้องสูงตามลำดับ.

6.3 แห่งความถูกต้องทางกาย วาจา จิต ตามอัตภาพ.

7. ประเภท : มนุษย์โดยประเภท : แบ่งโดยประเภทสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. ปุถุชน : คือ ผู้มีกิเลสหนาในระดับต่างๆ กัน.

2. พระอริยเจ้า : มีกิเลสเบาบางหรือหมดสิ้น.

กลุ่มที่ 2 :

1. ประกอบอยู่ด้วย มิจฉาทิฏฐิ.

2. ประกอบอยู่ด้วย สัมมาทิฏฐิ.

กลุ่มที่ 3 :

1. ยังไม่หลุดพ้น (ยังอยู่ในวิสัยโลกิยะ).

2. หลุดพ้นแล้ว (เป็นโลกุตตระ).

8. กฎเกณฑ์ : มนุษย์โดยกฎเกณฑ์ :

8.1 มนุษย์ต้องมีจิตใจสูง.

8.2 มนุษย์ต้องมีการกระทำอย่างมนุษย์ คือมีวิวัฒนาการไปหาจุดหมายปลายทาง.

8.3 มนุษย์ต้องไม่สร้างปัญหาที่เกิดจากความเห็นแก่ตัว.

8.4 มนุษย์ต้องบำเพ็ญประโยชน์ครบทั้งสาม คือ ประโยชน์ตน, ประโยชน์ผู้อื่น, ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกัน (สาธารณประโยชน์).

9. สัจจะ : มนุษย์โดยสัจจะ :

9.1 ความเป็นมนุษย์ขึ้นอยู่กับความมีวิชชาหรือสติปัญญา และการกระทำของมนุษย์เอง.

9.2 มนุษย์ทุกคนมีเชื้อแห่งโพธิโดยเท่ากัน จะต่างกันตรงที่ได้รับการพัฒนา (เพาะปลูก) หรือไม่เท่านั้น.

9.3 จุดหมายปลายทางของมนุษย์ คือ โมกขะ หรือ นิพพาน.

9.4 มนุษย์หรือเทวดาหรือสัตว์เดรัจฉานและพฤกษาชาติทั้งปวง เป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท.

9.5 มนุษย์ต้องมีมนุษยธรรมจึงจะเรียกว่า มนุษย์.

10. หน้าที่ : มนุษย์โดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ต่อตัวเอง : คือ การกระทำเพื่อให้เกิดความรอดแก่ตนเองในทุกความหมาย.

10.2 หน้าที่ต่อผู้อื่น : คือ การกระทำในลักษณะที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย แก่ชีวิตทุกระดับ.

10.3 หน้าที่ต่ออุดมคติของมนุษย์ คือ ต้องรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ให้ได้ เหมือนเกลือรักษาความเค็ม.

11. อุปมา : มนุษย์โดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 ปลาที่ดำผุดอยู่ในวงล้อมของอวนแห่งมาร คือ อวิชชา กิเลส ตัณหา.

11.2 ไก่ที่ถูกจับมาขังไว้ในกรงเดียวกันเพื่อนำไปฆ่า ก็ยังจิกกันเองอยู่นั่นเอง หามีความเมตตาแก่กันและกันไม่.

11.3 ผู้กำลังเดินทางไกลจากโลกิยะสู่โลกุตตระ.

11.4 นักธุดงค์ เดินทางเพื่อค้นคว้าหาสิ่งที่ดีที่สุดที่ตนควรจะได้.

12. สมุทัย : มนุษย์โดยสมุทัย :

12.1 สมุทัยของมนุษย์ : คือ ความอยากเป็นมนุษย์ของมนุษย์เอง.

12.2 สมุทัยทางฝ่ายกาย : คือ ธาตุหกมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด.

12.3 สมุทัยทางฝ่ายจิต : มีผู้อบรมสั่งสอน และสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ให้การเกิด.

13. อัตถังคมะ : มนุษย์โดยอัตถังคมะ :

13.1 ทั้งฝ่ายกายและจิตมีการดับไปตามคราว เพราะขาดเหตุปัจจัย ตามธรรมดาของสังขารธรรมหรือสังขตธรรมทั้งหลาย.

13.2 ความเป็นมนุษย์โดยคุณค่าทางสติปัญญาดับไป เมื่อควบคุมความรู้สึกฝ่ายสูงไว้ไม่ได้; เพราะถูกอวิชชาหรือกิเลสตัณหาเข้าครอบงำ.

14. อัสสาทะ : มนุษย์โดยอัสสาทะ :

14.1 มนุษย์เป็นที่ตั้งแห่งอัสสาทะของมนุษย์ ซึ่งเป็นที่รักแก่กันและกัน เช่น บุตรเป็นที่ตั้งแห่งอัสสาทะของบิดามารดา เป็นต้น.

14.2 อัสสาทะของมนุษย์ :

1. โดยภายใน : มีตนเป็นอัสสาทะ คือไม่มีอะไรเป็นที่รักยิ่งกว่าตน.

2. โดยภายนอก : มี 3 ระดับ :

ก. มีกามธาตุ (สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งกามทุกระดับ) สำหรับมนุษย์พวกกามาวจรภูมิ.

ข. มีรูปธาตุ (ความสุขที่เป็นรูปธรรมไม่เกี่ยวกับกาม) สำหรับมนุษย์พวกรูปาวจรภูมิ.

ค. มีอรูปธาตุ (ความสุขที่ไม่เกี่ยวกับรูปธรรมหรือเหนือรูปขึ้นไป) สำหรับมนุษย์พวกอรูปาวจรภูมิ.

15. อาทีนวะ : มนุษย์โดยอาทีนวะ :

15.1 ความทุกข์ทุกชนิดทุกระดับ ที่มนุษย์ทุกชนิดทุกระดับสร้างขึ้นเอง.

15.2 กิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอาทีนวะของมนุษย์.

15.3 มนุษย์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมเป็นอาทีนวะของสังคมมนุษย์; เพราะเป็นมนุษย์รกโลก.

16. นิสสรณะ : มนุษย์โดยนิสสรณะ :

นัยที่ 1 : เพื่อออกจากทุกข์ : คือ อริยมรรคมีองค์ 8.

นัยที่ 2: เพื่อออกจากความเป็นมนุษย์ : คือ การตัดอุปาทานว่าเป็นตัวตน ก็ถึงความว่างแห่งความมีตัวตน.

17. ทางปฏิบัติ : มนุษย์โดยทางปฏิบัติ :

นัยที่ 1 : เพื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง : คือ ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8.

นัยที่ 2 : เพื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ผู้อยู่เหนือปัญหาทั้งปวง : คือ การปฏิบัติเพื่อตัดสังโยชน์หรืออุปาทานในระดับสุดท้าย.

18. อานิสงส์ : มนุษย์โดยอานิสงส์ : คือ โอกาสแห่งการศึกษาและการทำพระนิพพานให้แจ้ง.

19. หนทางถลำ : มนุษย์โดยหนทางถลำ :

นัยที่ 1 : เข้าไปสู่ความเกิดเป็นมนุษย์ (ตัวตนที่เป็นทุกข์) : เพราะอวิชชาที่ไม่รู้ว่าไม่ควรจะเกิด.

นัยที่ 2 : เข้าไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง : คือ คบสัตบุรุษหรือพระอริยเจ้า.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : มนุษย์โดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

20.1 เพื่อการได้เป็นมนุษย์ : คือ ภวตัณหา ตามภูมิตามชั้นที่ตนปรารถนา.

20.2 เพื่อถึงยอดสุดของความเป็นมนุษย์ : คือ การตัดตัณหาอุปาทาน.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : มนุษย์โดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : หมายถึง คนที่พอสักว่าเกิดมาก็เป็นคน.

ภาษาธรรม : หมายถึง คนที่มีมนุษยธรรม.

21.2 ภาษาคน : คือ มิใช่สัตว์.

ภาษาธรรม : คือ สัตว์ชนิดหนึ่งโดยเท่ากัน.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ใครคือใคร ?

2. ธรรมะกับสัญชาตญาณ

3. ศีลธรรมกับมนุษยโลก


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง